TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 7 september 2560
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 650 ครั้ง

อสังหาไทยเนื้อหอม “จีน-ญี่ปุ่น” รุกหนักชิงเค้กคอนโดฯ-โรงแรม

กลุ่มทุน “จีน-ญี่ปุ่น” เดินหน้าลงทุนอสังหาริมทรัพย์ไทย หวังชิงเค้กตลาดคอนโดฯ – โรงแรม      

แม้ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยในปีนี้ จะอยู่ในภาวะทรงตัว แต่ในสายตานักลงทุนต่างชาติยังมีความเชื่อมั่นว่า มีโอกาสจะเติบโตได้ในระยะยาว โดยเฉพาะตลาดระดับกลางและระดับบน ที่มีกำลังซื้อสูง และไม่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงเห็นบรรดากลุ่มทุนต่างชาติ โดยเฉพาะ “จีน” และ “ญี่ปุ่น” ตบเท้าเข้ามาขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 3 – 5 ปีที่ผ่านมา 

โดยนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย บอกว่า ประเทศไทยถือเป็นเป้าหมายแรก ที่กลุ่มทุนจาก “จีน” และ “ญี่ปุ่น” ให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโต จากการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ขณะที่แนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ตลอดจนแผนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ยังเป็นปัจจัยหนุนสำคัญ ที่ช่วยผลักดันประเทศให้มีศักยภาพมากขึ้น 

สอดคล้องกับนายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ที่ชี้ว่า ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เริ่มเห็นการเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนจีนชัดเจนมากขึ้น หลังจากทางการจีนประกาศคุมเข้มการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ 

โดยส่วนใหญ่จะเน้นลงทุนกลุ่มที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดฯถึง 70% โดยเฉพาะตลาดราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท หรือราว 2 ล้านหยวน ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าคอนโดฯในเมืองหลักของจีน และอีก 30% จะเป็นการลงทุนประเภทโรงแรม โดยนับตั้งแต่ช่วงปี  2558 - 2560 กลุ่มทุนจากจีน เข้ามาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของไทย มีมูลค่ารวม 7 หมื่นล้านบาท และคาดว่า แนวโน้มจากนี้ จะขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 2 - 3 หมื่นล้านบาท 

เช่นเดียวกับการลงทุนจากกลุ่มทุนญี่ปุ่นที่เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 2 - 3 หมื่นล้านบาทเช่นกัน ซึ่งแนวโน้ม 3 - 5 ปีจากนี้ ทั้งทุน “ญี่ปุ่น” และ “จีน” ยังคงเดินหน้าเข้ามาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นรูปแบบการลงทุนระยะยาว เน้นคอนโดฯเป็นหลัก ส่วนโรงแรมจะเลือกทำเล เชียงใหม่ // พัทยา // และภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทย นิยมที่จะจับมือเป็นพันธมิตรร่วมทุนกับกลุ่มทุนญี่ปุ่นเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่ได้ประกาศร่วมทุนกับ “กลุ่มฮูซิเออร์ โฮลดิ้งส์” ในสัดส่วน 51:49 พัฒนาโครงการร่วมกันราวปีละ 5,000 – 6,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 2 – 3 โครงการต่อปี  

บมจ.แสนสิริ ร่วมทุนกับ บริษัท โตคิว คอร์ปอเรชั่น จำกัด จัดตั้ง บริษัท สิริ ทีเค วัน จำกัด โดยแสนสิริ ถือหุ้น 70% // โตคิวฯ 29% // และ บริษัท สหโตคิว คอร์ปอเรชั่น จำกัด 1% // บมจ.เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จับมือ ฮันคิว เรียลตี้ (ประเทศญี่ปุ่น) มุ่งพัฒนาโครงการแนวรถไฟฟ้า // ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ผนึกกำลัง โนมูระ เรียลเอสเตท ดีเวลล็อปเมนท์ // อนันดาฯ ร่วมทุน มิตซุย ฟูโดซัง // และ เอพี (ไทยแลนด์) ผนึก มิตซูบิชิ เอสเตท 

เทรนด์ดีเวลลอปเปอร์ไทย ที่หันมาร่วมทุนกับต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มทุนญี่ปุ่นนั้น นอกจากเป็นการกระจายต้นทุน ลดความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองแล้ว ในอีกมุมสำหรับผู้อยู่อาศัย นับเป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้สัมผัสกับนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว