TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 28 march 2559
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 789 ครั้ง

บุกกระทรวงแรงงาน จี้แก้ปัญหา หวังลดความเหลื่อมล้ำ

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) จี้กระทรวงแรงงานแก้ปัญหาแรงงาน ทั้งค่าจ้าง ประกันสังคม การลเมิดสิทธิแรงงาน ชวนไว้อาลัยหน้าสัญลักษณ์หลังเจ้ากระทรวง และปลัดไม่อยู่รับเรื่อง

ที่กระทรวงแรงงาน วันที่ 18 มีนาคม 2559 นำโดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคสรท. และคุณยงยุทธ เม่นตะเภา รองประธานคสรท. และสหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานต่างๆราว 50 คน ได้เข้ายื่นหนังสือถึงหม่อมหลวง ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้มอบหมายให้นายสุวิทย์ สุมาลา รองปลัดฯมารับหนังสือแทน

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กล่าวว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)  การมาวันนี้เพื่อติดตามปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายเรื่อง ที่ คสรท.ได้ยื่นหนังสือต่อปลัดกระทรวงแรงงานให้แก้ไขปัญหา  ซึ่งทางคสรท.ได้รับหนังสือที่ รง 0610/34592 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2558  เรื่อง การตรวจสอบการบริหารของกองทุนประกันสังคมให้มีความโปร่งใสและผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงการตรวจสอบได้ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 เป็นคำชี้แจงรายงานผลการดำเนินงานตรวจสอบการบริหารกองทุนประกันสังคมฯ ในบางกรณียังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด  รวมถึง เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ และโครงการใช้เงินประกันสังคมที่ไม่เกิดประโยชน์กับผู้ประกันตนทั้งหมดให้ยกเลิกเช่น ทำเสื้อแจกวันแรงงาน ไปดูงานต่างประเทศ การจัดทำปฏิทิน  งบประมาณในการจัดอบรมสภาองค์การลูกจ้าง สภาองค์การนายจ้างหรืองบอื่น และการออกระเบียบกฎหมายลูกของสำนักงานประกันสังคม ฉบับแก้ไขปี 2558  และปัญหาการละเมิดสิทธิของสหภาพแรงงาน ซันโค โกเซ  ประเทศไทย ที่มีการเลิกจ้าง และเปิดให้มีการสมัครใจลาออก โดยไม่เป็นธรรม แม้ว่าจะมีการจ่ายค่าชดเชยแต่มีการใช้วิธีการต่างๆเพื่อให้ลูกจ้างต้องจำยอมรับสภาพ ซึ่งการเซนต์สมัครใจลาออกส่งผลกระทบต่อสิทธิของลูกจ้างด้านประกันสังคม และยังมีคนที่ตั้งครรภ์ ถึงแม้ว่าลูกจ้างไม่ลาออกก็ถูกนายจ้างเลิกจ้างอยู่ดี หลังจากที่มีการทำข้อตกลงร่วมกันแล้ว

กรณีการตรวจสอบการใช้เงินประกันสังคม ซึ่งสำนักงานประกันสังคมมีการใช้เงินให้การประชาสัมพันธ์ด้วยการทำเสื้อแจกวันแรงงานแห่งชาติ คนไม่กี่หมื่นคนได้รับเสื้อทุกปีเป็นการใช้เงินประกันสังคมสอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกันตนส่วนใหญ่หรือไม่ หรือการทำปฏิทินแจกนั้น มองว่าเป็นการสิ้นเปลืองและไม่ทั่วถึงแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนเช่นกัน และการจัดการอบรมเรื่องประกันสังคมกว่า 2,600 โครงการ เป็นเงินรวมแล้วประมาณ 52 ล้านบาทต่อปี เจ้าหน้าที่ตอบว่าให้โครงการเฉพาะสภาองค์การลูกจ้าง กับสภาองค์การนายจ้างเท่านั้น ตกอยู่กลับกลุ่มแรงงานเพียงไม่กี่หมืนคน และเป็นการให้การศึกษาแค่กลุ่มเดียว เสนอว่าให้มีการจัดทำเอกสารแผ่นเดียวเรื่องสิทธิประโยชน์ส่งให้ถึงมือผู้ประกันตน 14 ล้านคน เพื่อให้เขาได้รู้เรื่องสิทธิประโยชน์น่าจะเป็นประโยชน์กว่าการจัดการศึกษาอยู่กับกลุ่มเดิมๆ และควรมีการขอความร่วมมือกับนายจ้างเพื่อเข้าไปให้การศึกษาเรื่องสิทธิประกันสังคมน่าจะตรงกับกลุ่มเป้าหมายกว่าที่ทำอยู่ และการที่แจ้งว่าให้มีการเสนอเป็นโครงการก็ควรใช้รูปแบบเดียวกันกับทุกกลุ่ม

การไปดูงานต่างประเทศมีการใช้งบจำนวนมากไปดูงานมาเป็นประโยชน์อย่างไรกับผู้ประกันตน อย่างไรก็ตามควรนำเงินมาจัดสวัสดิการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน ขอท้าให้มีการทำประชาพิจารณ์ความต้องการของผู้ประกันตนเพื่อการบริหารจัดการตามความต้องการของแรงงานหรือไม่

ส่วนกรณีการบังคับใช้กฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่ที่มีการบังคับใช้กฎหมายลูกก็ควรออกมาบังคับใช้ได้แล้ว เนื่องจากมีผลกระทบกับผู้ประกันตน ทั้งเรื่องการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารประกันสังคม (บอร์ด) การจัดการเรื่องสิทธิแรงงานข้ามชาติว่าจะให้เขารับสิทธิอย่างไรเมื่อต้องกลับไปประเทศต้นทาง ซึ่งตอนนี้มีการพูดถึงการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ

ประเด็นการเลือกตั้งคณะกรรมการไตรภาคี เช่นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ขาดการมีส่วนร่วมของแรงงานทุกกลุ่ม รัฐกำหนดให้เพียงตัวแทนที่มาจากสภาองค์การลูกจ้างเท่านั้น ซึ่งควรเป็นเรื่องของความสามารถ และมีความรู้ มีความเป็นตัวแทนจริงๆ ซึ่งควรต้องมีการตรวจสอบเรื่องของสมาชิกของแต่ละองค์กร ซึ่งก็รับรู้กันอยู่ว่าบางองค์กรมีความเป็นสมาชิกซ้ำซ้อนกัน มีการยืมสมาชิกกันเพื่อตั้งองค์กร ซึ่งถือว่าเป็นความน่าอาย ซึ่งจากการประเมินของโพลต่างๆพบว่ากระทรวงแรงงานสอบตกในการแก้ไขปัญหา คิดว่าหากจะทำแต่งานอีเว้นอย่างเดียวไม่แก้ปัญหาให้แรงงานก็ควรเปลี่ยนคนใหม่มาทำ ซึ่งวัดได้จากการที่คสรท.นัดเพื่อขอเข้าพบทั้งรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงแรงงานมานานมากแต่ไม่เคยรับนัดเพื่อพูดคุยแก้ไขปัญหาแรงงานแบบจริงจัง อย่างไรขอคำตอบแบบชัดๆฟันธงภายในอาทิตย์หน้า

ส่วนนายยงยุทธ เม่นตะเภา รองประธานคสรท.กล่าวว่า คิดว่าภาครัฐเองก็คงรู้อยู่แล้วถึงกระบวนการตั้งสหภาพแรงงาน หรือตั้งสภาองค์การลูกจ้างว่า มีสมาชิกที่ซ้ำซ้อนกัน และใครบ้างที่เป็นลูกจ้างตัวจริง หรือใช้ชื่อแขวนไว้ ตนมองว่า กระบวนการอย่างนี้เรียกว่าธุรกิจแรงงาน เป็นการหากินกับผู้ใช้แรงงานอยากให้กระทรวงแรงงานมีการตรวจสอบอย่างจริงจัง เพื่อการจัดการทั้งรูปแบบกระบวนการอบรมประกันสังคม การจัดทำปฏิทิน เสื้อ ว่าใครเป็นคนรับไปทำเป็นรูปแบบหาประโยชน์หรือไม่ต้องมีการตรวจสอบให้เห็นขบวนการ

ประเด็นค่าจ้างขั้นต่ำที่ถูกแช่แข็งมานานควรมีการปรับขึ้นได้แล้ว เพราะว่าค่าครองชีพมีการปรับขึ้นทุกวัน ราคาน้ำมันลงแต่ค่าใช้จ่ายมีแต่ปรับตัวขึ้น ค่าจ้างแรงงานยังคงเดิมไม่มีการขยับ การทำการศึกษาพอเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นกำลังใจใน 1 พฤษภาคม นี้ หากรัฐบาลต้องการที่จะสร้างกระบวนการปฏิรูปเพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างเท่าเทียมจริงไม่ใช่ดีแต่พูดไปเรื่อย ตอนนี้บอกเลยแรงงานจะทนไม่ไหวแล้วกับการทำงานของเจ้ากระทรวงแรงงาน

ด้านนายสุวิทย์ สุมาลา รองปลัดกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาตามที่คสรท.เสนอมานั้น ตนและข้าราชการได้มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาอยู่ เช่นเรื่องประกันสังคมจัดอบรมให้ความรู้เรื่องสิทธิผู้ประกันตนนั้นทางสำนักงานประกันสังคม(สปส.)ได้มีการปรับกระบวนการให้งบประมาณแล้ว และเห็นด้วยกับข้อเสนอของ คสรท. ต่อแต่นี้จะใช้การทำเรื่องมาขอใช้ทุน เช่นต้องการอบรมกี่รุ่นๆละเท่าไร ขอรายชื่อผู้เข้าอบรมและจะให้เจ้าหน้าที่ลงไปดูเพื่อตรวจสอบว่าจัดจริงหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนเข้าอบรมแล้วอบรมซ้ำคนเดิมจะมีการสร้างระบบเพื่อตรวจสอบจากบัตร และสิทธิผู้ประกันตน

เรื่องไปดูงานต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้ทางรัฐบาลถือเป็นนโยบายเลยว่า การไปต่างประเทศจะต้องเป็นประเทศในอาเซียนเท่านั้น หากไปไกลกว่านี้ต้องขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้านอื่นก็พยายามที่จะแก้ปัญหาอยู่ เช่นเรื่องค่าจ้างก็มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อหาข้อมูลเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยได้มีการปรับชุมไปบ้างแล้วคิดว่าจะประชุมเสร็จในเดือนเมษายน 2559

กรณีสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย การที่นายจ้างมีการใช้กลยุทธวิธีการในการให้ลูกจ้างสมัครใจลาออก และการเลิกจ้างหากไม่เข้าโครงการ ซึ่งหากดูแล้วคงไม่มีใครที่อยากลาออกจากงานแบบพร้อมๆกันจำนวนมาก หากไม่มีเหตุอื่นๆ กรณีการจ้างงานแรงงานข้ามชาติผ่านบริษัทเหมาค่าแรง ซึ่งตอนนี้ภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจต่อประเด็นนี้มีการเข้าไปตรวจสอบตามที่มีการร้องเรียนมา ซึ่งคิดว่าคงจะมีมาตรการต่างๆในการแก้ไขปัญหาแน่นอน

ประเด็นการตรวจสอบองค์กรแรงงานเรื่องสมาชิก คิดว่ากรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานควรทำให้เกิดความกระจ่าง เพื่อจะได้เกิดความชัดเจนขององค์กรว่าใครเป็นสมาชิกใครบ้างองค์กรไหน เพื่อการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้น

การเลือกตั้งคณะกรรมการไตรภาคี เช่นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์(ครส.) ก็คงเป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้ เดิมเคยมีแนวคิดปรับกระบวนการได้มาเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในกรรมการสวัสดิการ แต่ไม่ทราบว่าทำไมจึงกลับเข้าสู่ระบบการได้มาจากกลุ่มเดิมของแรงงาน

ทั้งนี้ในช่วงหนึ่งเวลา 10.30 น. นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ได้นำสมาชิกเพื่อยืนไว้อาลัย และชูป้ายข้อเรียกร้องหน้าสัญลักษณ์กระทรวงแรงงาน ต่อประเด็นการละเลยต่อการแก้ไขปัญหาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และปลัดกระทรวงแรงงาน จนทำให้การละเมิดสิทธิแรงงาน การบังคับใช้กฎหมาย และการหลบหลีกปัญหาไม่กล้าพบผู้ใช้แรงงานที่มาร้องทุกข์เพื่อให้แก้ปัญหาประมาณ 1 นาที