TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 26 march 2559
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 771 ครั้ง

ครม. มีมติ การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ปี 59

ครม.มีมติบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ เมียนมา ลาว กัมพูชา ยื่นรายงานตัวขออนุญาตทำงาน 1 เมษายน-29กรกฎาคม 59 นี้

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติ เรื่องการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ(ต่างด้าว)ปี 2559 ดังนี้

1. รับทราบขั้นตอนการนำเข้าแรงงานเวียดนาม และเห็นชอบในหลักการการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ปี 2559 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ สรุปได้ ดังนี้

1.1 การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติหลังวันที่ 31 มีนาคม 2559 การรายงานตัวเพื่อขออนุญาตทำงาน โดยบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่เคยทำงานอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย 2 กลุ่ม [กลุ่มที่ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู) และกลุ่มที่มีเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้] กำหนดให้สิ้นสุดการทำงานในวันเดียว คือวันที่ 31 มีนาคม 2561 ทั้งนี้ ไม่รวมแรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายซึ่งได้จดทะเบียนในช่วงเวลาที่ผ่านมาทั้ง 2 ระยะ

1.2 การให้แรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักรในทุกประเภทกิจการทำงานได้ครั้งละไม่เกิน 2 ปี และจะต่ออายุการทำงานอีกได้ครั้งละ 2 ปี ไม่เกิน 4 ครั้ง รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง ซึ่งการต่ออายุแต่ละครั้งให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมการจัดหางานกำหนด

1.3 การยกระดับสำนักบริหารแรงงานข้ามชาติ กรมการจัดหางาน เป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงาน

1.4 การกำหนดคำนิยามกิจการแปรรูปสัตว์น้ำเพิ่มเติม โดยกำหนดคำนิยามของการแปรรูปสัตว์น้ำให้รวมถึงการคัดแยกปลา และสัตว์น้ำอื่น ๆ

1.5 การออกกฎกระทรวงกำหนดรูปแบบใบอนุญาตทำงาน โดยให้กระทรวงแรงงานปรับปรุงกฎกระทรวงเพื่อกำหนดรูปแบบใบอนุญาตทำงานให้มีลักษณะและข้อความสอดคล้องตรงกับที่ระบุไว้ด้านหลังบัตรชมพู โดยให้มีผลย้อนหลังครอบคลุมในวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบการดำเนินการกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา หลังวันที่ 31 มีนาคม 2559 ซึ่งได้จัดทำทะเบียนประวัติ และขออนุญาตทำงานระหว่างวันที่ 1 เมษายน-29 กรกฎาคม 2559

2. ยกเว้นกรณีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ ให้กระทรวงแรงงานดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก่อน รวมถึงให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เห็นควรเร่งรัดการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้อยู่ภายใต้ระบบการนำเข้าภายใต้ข้อตกลง (MOU) เพื่อการบริหารจัดการอย่างเป็นเอกภาพโดยเร็ว ไปพิจารณาดำเนินการ แล้วจึงนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

3. ในระยะต่อไปให้กระทรวงแรงงานพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติทุกสัญชาติให้เป็นระบบและมีความเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการแรงงานข้ามชาติของประเทศ รวมทั้งให้พิจารณากำหนดให้แรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักร และที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานทุกสัญชาติ (เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม) มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดพร้อมกันด้วย

4. เนื่องจากรัฐบาลได้รับการร้องขอจากประเทศเพื่อนบ้านให้พิจารณาเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทยสามารถทำงานอื่นได้ ดังนั้น จึงให้กระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาความเหมาะสมในการอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติสามารถทำงานประเภทอื่นนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตไว้แล้วได้ เช่น งานบริการ โดยไม่ให้เกิดผลกระทบกับแรงงานชาวไทย