TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 28 april 2559
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 721 ครั้ง

แก้ปมโรงฮิงยา

นอกเหนือจากความกังวลและข้อถกเถียงของผู้คนในสังคม ที่มีต่อกรณีผู้เดินทางทางเรือทั้งชาวบังกลาเทศและชาวโรฮีนจา ไม่ว่าจะเป็น การถกเถียงเรื่องรับหรือไม่รับ เรื่องตั้งหรือไม่ตั้งศูนย์พักพิง แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้ประเด็นปัญหาข้างต้นนั่นก็คือ ผลกระทบในมิติต่างๆ ที่จะตามมาในภายภาคหน้า อาทิ ความมั่นคงทางทหาร ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม แรงงาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยแวดล้อมที่คนในสังคมไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง

ทว่า ลองสละเวลาสักนิด เปลี่ยนโฟกัสจากเรื่องจะรับ หรือไม่รับโรฮีนจา มาโฟกัสเรื่องผลกระทบ และร่วมกันค้นหาทางออกของปัญหาที่หลายคนมองว่า “โรฮีนจา คือปัญหาที่ไร้ทางแก้” ซึ่งเป็นสิ่งสวนทางกับความเชื่อที่ว่า “ทุกปัญหาล้วนมีทางออกเสมอ”... ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ร่วมพูดคุยกับนักวิชาการและผู้คร่ำหวอดในบริบทของอาเซียน พวกเขาเสนอทางออก ชี้ผลกระทบอย่างไรบ้าง วันนี้ เรามีคำตอบ!

สถานการณ์ของประเทศไทย เป็นเพียงทางผ่านของผู้อพยพที่จะเดินทางไปสู่ประเทศอินโดนีเซีย

ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ว่าด้วยเรื่อง ความมั่นคงทางทหาร : ประเทศอยู่ไกลแต่ชี้นิ้วสั่ง!
ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงทรรศนะด้านความมั่นคงในอาเซียนว่า สถานการณ์ของประเทศไทยขณะนี้ เป็นเพียงทางผ่านของผู้อพยพที่จะเดินทางไปสู่ประเทศอินโดนีเซีย ดังนั้น เรื่องของการช่วยเหลือจึงเป็นการผ่อนหนักให้เป็นเบาเท่านั้น ส่วนประเด็นจะรับหรือไม่รับชาวโรฮีนจาเข้าประเทศนั้น อันดับแรกประเทศไทยจะต้องคำนึงถึงสถานการณ์ภายในเสียก่อน ว่าเรามีภาระที่ต้องแบกรับไว้มากน้อยเพียงใด และอีกหนึ่งสิ่งที่ควรตระหนักไม่แพ้กัน คือ ศาสนา อันเป็นจุดเชื่อมระหว่างชาวโรฮีนจากับคนไทย

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังถูกจับตามองจากหลายชาติ และถูกสหรัฐอเมริกากดดันให้จัดตั้งที่พักพิงชั่วคราวให้แก่ผู้เดินทางทางเรือทั้งชาวบังกลาเทศและชาวโรฮีนจา เพราะฉะนั้นประเทศไทยจะต้องไม่คิดว่า สิ่งที่ชาติมหาอำนาจกำลังทำอยู่ คือการกดดัน แต่ประเทศไทยต้องบอกกลับเขาไปว่า ปัญหานี้ไม่สามารถแก้ได้ด้วยมือของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่ทุกประเทศที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันแก้

ทั้งนี้ โรฮีนจาขึ้นชื่อว่าเป็นชาติพันธุ์ต้องคำสาป และไม่เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ แม้กระทั่งประเทศต้นทางอย่างประเทศเมียนมา ปัญหาดังกล่าวจึงไม่มีทางอื่นแก้ นอกจากใช้ความเข้มแข็งของประเทศต้นทาง ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค รวมทั้งประเทศขนาดใหญ่ที่มีความเข้มแข็งทางการเศรษฐกิจเข้ามาดูแลปัญหานี้ร่วมกัน โดยอาศัยการพูดคุย

“บางประเทศอยู่ไกลแต่ชี้นิ้วสั่ง เราจะไปยอมตัวเป็นเป้าของการชี้นิ้วไม่ได้ ความรู้สึกกดดันในเรื่องมนุษยธรรมน่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าประเทศไทยจะต้องถูกกดดัน อังกฤษเมียนมาก็ต้องถูกกดดันด้วย ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาที่คนอาจเห็นต่าง แต่ท้ายที่สุดเราแก้ไขเรื่องนี้คนเดียวไม่ได้ และวินาทีนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญและท้าทายของผู้นำหลายๆประเทศ ที่ต้องหันมามองและเรียกประชุมประเทศอาเซียนเพื่อหาทางออกอย่างจริงจัง เพราะปัญหาชาวโรฮีนจา ณ ขณะนี้มีความสำคัญไม่แพ้กันกับประชาคมเศรษฐกิจ” สุริชัย หวันแก้ว กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง

ผู้อพยพต้องมาจบชีวิตลงในประเทศไทย

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิเศษศูนย์รักษาความปลอดภัย แสดงทรรศนะถึงเรื่องการอพยพของชาวโรฮีนจาว่า ปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจามีผลกระทบต่อความมั่นคงทางทหารในส่วนของกลุ่มก่อการร้าย เนื่องจากบางส่วนเคยร่วมมือกับกลุ่มอัลกออดะห์ในเหตุการณ์ถล่มตึกเวิลด์เทรด ซึ่งในประเทศไทยคาดว่า มีผู้ก่อการร้ายจำนวนอยู่ไม่ต่ำกว่า 100 คน แต่ยังไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัด

ขณะที่ การก่อการร้ายมักเกิดขึ้นในแถบประเทศอเมริกา ยุโรป และตะวันออกกลาง ส่วนในเอเชียมีเพียงการก่อการร้ายพื้นบ้าน ซึ่งชาวโรฮีนจาเริ่มขยายการจัดตั้งกลุ่มก่อการร้ายขึ้น ดังนั้น พี่ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา จึงใช้โอกาสนี้ผลักศึกให้พ้นบ้าน โดยการกดดันให้ประเทศไทยจัดตั้งที่พักพิงชั่วคราว เพื่อให้ชาวโรฮีนจาเข้าไปอยู่อาศัย และไม่สามารถออกไปก่อการร้ายใดๆ ได้ในอนาคต

“รัฐบาลนี้เลือกไม่ปัดขยะเข้าใต้พรม แต่กวาดล้างอย่างจริงจัง จึงเป็นผลพลอยได้ให้สหรัฐฯ ฉวยโอกาสในการกดดันประเทศไทย” พล.ท.นันทเดช แสดงความเห็น

ดังนั้น ทางออกที่ทางการทหารไทยสามารถจะทำได้ต่อปัญหาการอพยพของชาวโรฮีนจานั้น มีเพียงการช่วยเหลือให้พวกเขาเหล่านี้เดินทางไปยังประเทศมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย และช่วยตั้งค่ายกักกันคนหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย นอกเหนือจากนั้นคือการช่วยตามหลักมนุษยธรรมโดยการให้อาหาร และสิ่งจำเป็นอื่นๆ

ต้องมีการกำหนดเขตน่านน้ำของไทยให้ชัดเจน

ว่าด้วยเรื่อง ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ : Tier 3 หนาวๆ ร้อนๆ
ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นกรณีโรฮีนจาในเชิงเศรษฐกิจว่า ในปี 2557 ที่ผ่านมา สถานการณ์ค้ามนุษย์ของประเทศไทยถูกลดอันดับจากบัญชีกลุ่มที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ลงมาอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด และนั่นก็หมายความว่า ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แต่ ณ ขณะนี้เหมือนเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้ประเทศไทย ต้องหันมาตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังมากขึ้น เพราะประเด็นปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจานั้น มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน

“ประเทศไทยสามารถใช้โอกาสครั้งนี้ในการแก้ไขปัญหาและดึงให้ไทยหลุดพ้นจากการถูกลดอันดับสถานการณ์ค้ามนุษย์ได้ โดยการให้ความช่วยเหลือในด้านมนุษยธรรม และดึงประเทศเพื่อนบ้านในประชาคมอาเซียน เข้ามาดูแลในเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กัน” ดร.ปิติ ศรีแสงนาม แนะแนวทางพลิกวิกฤติเป็นโอกาส

ขณะที่ แรงงานต่างด้าว ถือว่าเป็นแรงงานที่สำคัญและจำเป็นสำหรับประเทศไทย เนื่องจากโครงสร้างประชากรของไทยยังขาดแคลนแรงงานวัยฉกรรจ์ที่จะสามารถทำงานในลักษณะที่คนต่างด้าวจากประเทศอื่นๆ ทำได้ อีกทั้งแรงงานต่างด้าวยังอยู่คนละตลาดกับแรงงานไทยทั่วไป

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2557 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกากำลังจะมีขึ้นอีกครั้งในเดือนมิถุนายนที่กำลังจะถึงนี้ ซึ่ง ดร.ปิติ ศรีแสงนาม เชื่อว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้เข้ามาดูแล และสร้างมาตรการที่ชัดเจนขึ้นด้วยกันหลายด้าน อาทิ การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่มีระบบมากขึ้น กระบวนการดำเนินงาน รวมไปถึง พ.ร.บ.แรงงานต่างด้าว ที่ระบุชัดเจน ว่าประเทศไทยอนุญาตให้แค่แรงงานเมียนมา ลาว และกัมพูชาเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้เท่านั้น ส่วนประเด็นเรื่องโรฮีนจาเป็นผลกระทบที่มีระยะสั้น และมาในลักษณะของการหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย อีกทั้งยังไม่ตรงตามลักษณะที่ปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.แรงงานต่างด้าว จึงคาดว่า ทางผู้จัดอันดับคงเข้าใจและเล็งเห็นว่าเป็นคนละปัญหา อีกทั้งกระบวนการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเพียงประเทศไทยอย่างเดียว แต่มีทั้ง มาเลเซีย อินโดนีเซียและบังกลาเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน

ทางออกมีเพียงการช่วยเหลือให้พวกเขาเหล่านี้เดินทางไปยังประเทศมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย

ส่วนการแก้ปัญหาต้องแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือการป้องกันและการปราบปราม ซึ่งการป้องกันในระยะสั้นและระยะเร่งด่วน ไทยต้องเป็นตัวกลางในการประสานงานและสร้างความร่วมมือกับประชาคมอาเซียน บังกลาเทศ และองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ในการพัฒนาศูนย์อพยพในบังกลาเทศ และมอบอาชีพให้กับชาวโรฮีนจา ส่วนในระยะยาว ประเทศไทยต้องคำนึงถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีมากยิ่งขึ้น โดยการจัดการแรงงานจากบังกลาเทศให้สามารถจดทะเบียนเป็นแรงงานต่างด้าวในไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเมื่อทำงานครบตามกำหนดก็ต้องทำให้เขากลับประเทศตามที่กฎหมายกำหนด

ด้านการปราบปราม ต้องมีการกำหนดเขตน่านน้ำของไทยให้ชัดเจน ถ้าหากเรือของผู้อพยพยังไม่เข้ามาในน่านน้ำของไทย ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมต้องให้การช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมและผลักดันออกไปเนื่องจากภาครัฐของไทยไม่สามารถให้ชาวโรฮีนจาเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายได้ แต่หากเรือของผู้อพยพเข้ามาในน่านน้ำไทยแล้วต้องมีการควบคุมเพื่อคัดกรองชาวโรฮีนจาเพื่อดำเนินการต่างๆ ตามประเภทของผู้อพยพไม่ว่าจะเป็นการส่งกลับประเทศ การส่งไปยังประเทศที่ 3 ไปจนถึงการดำเนินคดีตามกฎหมายกลุ่มที่เป็นนายหน้าดำเนินธุรกิจค้ามนุษย์

ไทยถูกจับตามองจากหลายชาติ และถูกสหรัฐฯกดดันให้จัดตั้งที่พักพิงชั่วคราวให้แก่ผู้เดินทาง

ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา

ว่าด้วยเรื่อง สาธารณสุข : พาหะโรคภัยโรฮีนจา เดินทางสู่ไทย!  
ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เล่าประสบการณ์ที่ได้คลุกคลีกับชาวโรฮีนจาว่า ชาวโรฮีนจาบางส่วนป่วยเป็นโรคมาก่อนแล้ว ทั้งก่อนเดินทางและระหว่างการเดินทาง นั่นคือ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง สันนิษฐานว่า เกิดจากการขาดวิตามินบี 1 และก่อให้เกิดเป็นโรคเบอริเบอรี่ (Beriberi) หรือที่รู้จักกันในโรคเหน็บชา ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยอาการรุนแรงจำนวน 2 คน ได้เข้ารับการรักษากับทางโรงพยาบาลปาดังเบซาร์แล้ว ส่วนที่ไม่รุนแรงก็ได้รับวิตามินบีรวมไปทาน นอกจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงยังตรวจพบ โรคมาลาเรีย เท้าช้าง อุจจาระร่วง และไทฟอยด์ รวมไปถึงวัณโรค ซึ่งตรวจพบเป็นโรคดังกล่าวจำนวนน้อย และถือว่ายังไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง แต่ทั้งนี้ชาวโรฮีนจาก็สามารถเป็นพาหะของโรค มาลาเรีย เท้าช้าง และ วัณโรค เข้าสู่ประเทศไทยได้เช่นกัน

ทางประเทศไทยเองมีมาตรการในการดูแลพร้อมอยู่แล้ว เมื่อแรกรับจะมีการตรวจหาเชื้อมาลาเรียก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อการป้องกันและเฝ้าระวัง หลังจากนั้นจะแจกจ่ายยาป้องกันโรคเท้าช้าง ยาฆ่าหนอนพยาธิ ให้รับประทานก่อน ในเด็กจะจัดการหยอดวัคซีนโปลิโอให้ หลังจากเข้าห้องขังจะดูแลในส่วนของสุขาภิบาลโดยเฉพาะความสะอาดในห้องขังโดยจะมีเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคเข้าเยี่ยมทุกวันเพื่อสอบถามอาการ หากพบว่ามีอาการป่วยรุนแรง เช่น ปวดท้องรุนแรง หายใจรุนแรง จะรีบนำส่งโรงพยาบาลปาดังเบซาร์

ขณะนี้ ประเทศไทยมีการดูแลตามหลักมาตรฐานสากลโดยเฉพาะเรื่องของความเป็นอยู่ โดยให้ความดูแลเรื่องของสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการคัดกรองโรคติดต่อ โดยด่านควบคุมโรคติดต่อและสาธารณสุขจังหวัด แต่การรักษาก็เป็นไปได้ยากเนื่องจากปัญหาด้านการสื่อสาร นอกจากนั้นในกรณีที่มีชาวโรฮีนจาเจ็บป่วย ทางโรงพยาบาลก็จะประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงการอพยพเข้ามาเพิ่มเติมก็จะมีการติดต่อกันอย่างป็นระบบระหว่างเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรค

ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

ว่าด้วยเรื่อง ความเป็นมนุษยธรรม : อย่าปล่อยชะตากรรมโรฮีนจาไร้จุดหมาย!
ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แสดงมุมมองเกี่ยวกับการที่สังคมไทยวิพากษ์วิจารณ์ถึงโรฮีนจาในแง่ลบว่า การเหมารวมในเชิงดูถูกชาวโรฮีนจานั้น เป็นอคติทางชาติพันธุ์ ซึ่งต้องให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้แก่ประชาชนกันต่อไป และเป็นเรื่องสำคัญมากที่นักสิทธิมนุษยชนจะต้องพยายามสกัดกั้น พร้อมทั้งกำจัดอคติทางชาติพันธุ์ไม่ให้เกิดเกิดขึ้นอีก

ทั้งนี้ ปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจานั้น ไม่ได้รับการแก้ไขในระยะแรก เนื่องจากภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ไม่ยอมรับว่าเป็นปัญหาการค้ามนุษย์ จนกระทั่งไทยถูกลดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ลงไปอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด ต่อมารัฐบาลจึงจะมีการจัดการเรื่องแรงงานถูกเอาเปรียบและเรื่องการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง

โรฮีนจาขึ้นชื่อว่าเป็นชาติพันธุ์ต้องคำสาป และไม่เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาในระยะยาว จึงควรจัดการแก้ไขกันตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งในเชิงเศรษฐกิจต้องมีโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนในรัฐอาระกันหรือยะไข่ และในเชิงการเมืองต้องมีการพูดคุยหารือ ไปจนถึงการกดดันรัฐบาลเมียนมาให้ปรับนโยบายเรื่องสถานภาพของชาวโรฮีนจา เพื่อป้องกันให้ปริมาณของผู้อพยพมีจำนวนลดลง

หากไทยจะช่วยเหลือชาวโรฮีนจาตามในเชิงมนุษยธรรม ก็ควรช่วยส่งเสริมให้พวกเขาไปถึงประเทศปลายทาง ส่วนปลายทาง การที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย ยินดีรับชาวโรฮีนจาเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาได้เยอะ เนื่องจากมาเลเซียต้องการแรงงานและที่ผ่านมามาเลเซียก็รับชาวโรฮีนจาเข้าทำงาน ทั้งที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายเพื่อตอบสนองความต้องการแรงงานของมาเลเซียทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม

“ที่ผ่านมาการช่วยเหลือของรัฐบาลไทยโดยการส่งมอบอาหารและช่วยซ่อมเรือเพื่อให้ชาวโรฮีนจามีชีวิตอยู่ต่อไปจนถึงประเทศปลายทางถือว่าเป็นการช่วยเหลือซึ่งสอดคล้องกับหลักมนุษยธรรม แต่ถ้าอินโดนีเซียและมาเลเซียไม่รับก็ถือว่าเป็นการช่วยเหลือให้ชาวโรฮีนจามีชีวิตอยู่อย่างไร้จุดหมาย” ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว

เผ่าพันธุ์ต้องคำสาปอย่างโรฮีนจา จะทุกข์ระทมเช่นนี้ต่อไป หรือมีผู้พิทักษ์มาช่วยปลดปล่อยคำสาปร้าย...ความร่วมมือของอารยประเทศ (อย่างไม่เงื่อนงำใดๆ แอบแฝง) เท่านั้น ที่จะเป็นคำตอบ!