TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 25 april 2559
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 4852 ครั้ง

ร้านอาหารเปิดเพลงไม่ผิดลิขสิทธิ์

ศาลฎีกายกฟ้องร้านอาหารเรื่องลิขสิทธิ์เพลง โดยศาลวินิจฉัยว่า ไม่ปรากฎว่าจำเลยเปิดเพลงเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าฟังเพลงโดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนหรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับอาหารและเครื่องดื่ม

จากกรณีที่บริษัท GMM แกรมมี่ ขึ้นข้อความ แจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการร้านอาหาร ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือร้านค้าทั่วไป ว่าการเปิดเพลงของทางค่ายผ่าน Youtube ก็ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หากต้องการเปิดแบบถูกต้อง จะต้องติดต่อขอสิทธิ์ ซึ่งการเปิดผ่าน Youtube จะอนุญาตให้รับชมได้เฉพาะเป็นการส่วนตัวหรือในที่อยู่อาศัยเท่านั้น

เรื่องที่ ทางเว็บไซต์ “ตั๋วทนาย.com” ซึ่งเขียนโดย นายกฤษดา ดวงชอุ่ม ทนายความ ได้ระบุว่า เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่พอจะเทียบเคียงได้  คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8220/2553 พนักงานอัยการ โจทก์  ฟ้อง เจ้าของร้าน อาหารตามสั่ง ที่เปิด VCD เพลง “กำลังใจที่เธอไม่รู้” ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นหรือดัดแปลงขึ้น โดยศาลวินิจฉัยว่า ไม่ปรากฎว่าจำเลยเปิดเพลงเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าฟังเพลงโดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนหรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ถึงแม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ตามวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 

ทีมข่าวได้สัมภาษณ์คุณ พีท พีระ เทศวิศาล หรือ หลายคนอาจจะรู้จักในนาม "พีท วงพีชเมกเกอร์" ทั้งในฐานะศิลปินและ เจ้าของ ร้านบุหลันดั้นเมฆ ริมถนนพระราม 3 คุณ พีท พีระ บอกว่ามองได้ 2 มุม มุมของคนดนตรี ก็น่าเห็นใจเพราะทางดนตรีตอนนี้หาเงินลำบาก ไม่แปลกที่ค่ายเพลงเล่นในระบบนี้ ส่วนร้านอาหารขนาดเล็ก ๆ ก็น่าเห็นใจ แต่ร้านขนาดใหญ่ ควรจะต้องจ่าย ซึ่งก็ต้องดูเป็นรายกรณี ว่าการเปิดเพลงนั้นเพื่อหากำไรหรือไม่  แต่สำหรับตนเอง ได้เสียค่าลิขสิทธิ ปีล่ะหมื่นกว่าบาท ให้กับค่ายแกรมมี่และอาร์เอส ส่วน ค่ายเล็ก ๆหรือ ค่ายอินดี้ จะไม่ค่อยเก็บค่าลิขสิทธิ์เพราะมองว่าเป็นการประชาสัมพันธ์  หรือบางร้านเลี่ยงเปิดเพลงสากลไปเลย  เพราะเพลงไม่สากลไม่โดนลิขสิทธิ์ คุณพีทยังบอกด้วยว่าที่ผ่านมา จะเห็นร้านอาหารข้างทางหรือร้านเล็กๆ ที่โดนตำรวจล่อโดยการขอเพลงให้เปิดให้ พอเปิดก็ถูกจับดำเนินคดีมีการเรียกรับส่วยด้วย  จึงคิดว่าควรมีวิธีแก้ไขเรื่องนี้ 

   กรณีดังกล่าวผมมีคำพิพากษาฏีกาอย่างย่อมาให้อ่านกันนะครับ 

 

 

ความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ต้องเป็นการเผยแพร่งานนั้นต่อสาธารณชน "เพื่อหากำไร" ซึ่งหมายความว่า กำไรนั้นหากจำเลยได้มาหรือจะได้มาจะต้องเกิดจากการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น แต่ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้นได้ความว่า จำเลยประกอบกิจการค้าขายอาหารตามสั่งและเครื่องดื่มจำเลยเปิดแผ่นวีซีดีเพลง "กำลังใจที่เธอไม่รู้" อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นหรือดัดแปลงขึ้นให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยได้ฟัง ไม่ปรากฏว่าจำเลยเปิดเพลงดังกล่าวเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ฟังเพลงโดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงดังกล่าว หรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

 

 

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ม. 26

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 185 วรรค หนึ่ง

 

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ม. 31, ม. 70 วรรค สอง

 

ถ้าจะให้อธิบายเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น คือ ตราบใดที่การเปิดเพลงไม่ได้ทำเพื่อแสวงหากำไร คือ ไม่ได้เปิดเพลงมาแล้วเก็บค่าฟัง ก็ไม่ถือว่าผิดกฎหมายนะครับ !!!