TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 21 april 2559
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 1262 ครั้ง

การกระทำอันไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 38

การกระทำอันไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 38

แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543

 

มูลเหตุของการกระทำอันไม่เป็นธรรม

ตามมาตรา 35 ห้ามมิให้นายจ้าง

(1)   เลิกจ้างหรือกระทำการใดๆอันอาจเป็นผลให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้เพราะเหตุที่ลูกจ้างได้ดำเนินการขอจัดตั้งสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน หรือเข้าเป็นสมาชิก หรือกรรมการสหภาพแรงงาน กรรมการสหพันธ์แรงงาน กรรมการกิจการสัมพันธ์ กรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรืออนุกรรมการ หรือดำเนินการฟ้องร้อง เป็นพยาน หรือให้หลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นายทะเบียน หรือคณะกรรมการหรือต่อศาลแรงงาน

(2)   ขัดขวางในการที่ลูกจ้างเป็นสมาชิก หรือให้ลูกจ้างออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน กรรมการกิจการสัมพันธ์ หรือให้ หรือตกลงจะให้เงิน หรือทรัพย์สินแก่ลูกจ้างหรือเจ้าหน้าที่ของสหภาพแรงงาน เพื่อมิให้สมัครหรือรับสมัครลูกจ้างเป็นสมาชิก หรือเพื่อให้ออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน

(3)   ขัดขวางการดำเนินการของสหภาพแรงงานหรือสหพันธ์แรงงาน หรือขัดขวางการใช้สิทธิ์ของลูกจ้างในการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือ

(4)   เข้าแทรกแซงการดำเนินการของสหภาพแรงงาน หรือสหพันธ์แรงงานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ตามมาตรา 37 ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง หรือคำชี้ขาดตามมาตรา 32 มีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานของกรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเว้นแต่มีการยุบเลิกรัฐวิสาหกิจหรืองานส่วนใดส่วนหนึ่งใดของรัฐวิสาหกิจ หรือบุคคลดังกล่าวได้กระทำการดังต่อไปนี้

(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2) จงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง โดยนายจ้างได้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว และยังไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้รับทราบหนังสือเตือนนั้น ทั้งนี้ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งนั้น ต้องมิได้ออกเพื่อขัดขวางมิให้บุคคลดังกล่าวดำเนินการเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำต้องตักเตือน

(4) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

(5)   กระทำการใดๆเป็นการยุยงสนับสนุนหรือชักชวนให้มีการฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาด

 

การยื่นคำร้องตามมาตรา 38 ให้ผู้เสียหายเนื่องจากการฝ่าฝืนมาตรา 35 หรือมาตรา 37 มีสิทธิยื่นคำร้องได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับความเสียหายกล่าวหาผู้ฝ่าฝืน ต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด

ให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดและออกคำสั่งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง และให้ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้น ในกรณีนี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หรือให้จ่ายค่าเสียหาย หรือให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่เห็นสมควรได้

 

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง

                ลูกจ้างและ  สหภาพแรงงาน

 

ระยะเวลาการใช้สิทธิ

ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับความเสียหายกล่าวหาผู้ฝ่าฝืนต่อคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เพื่อพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด

 

สถานที่ยื่นคำร้อง

ผู้เสียหายสามารถยื่นคำร้องได้ที่ ชั้น 3 กลุ่มงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน อาคารกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400

 

การดำเนินการของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

เมื่อสำนักงานคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้รับคำร้องของผู้เสียหายแล้ว ให้ดำเนินการภายในหกสิบวัน โดยเริ่มจากนัดคู่กรณีสอบข้อเท็จจริง วิเคราะห์ข้อกฎหมาย เตรียมเอกสาร หาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้คณะอนุกรรมการพิจารณากฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พิจารณา ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 เพื่อพิจารณากลั่นกรอง และให้ความเห็นในเบื้องต้น แล้วนำเสนอคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดและออกคำสั่ง แล้วแจ้งผลการวินิจฉัยให้นายจ้าง/ลูกจ้างทราบ

 

การปฏิบัติตามคำสั่ง

คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มีอำนาจในการออกคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หรือให้จ่ายค่าเสียหาย หรือให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรได้ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มีบทกำหนดโทษ ตามมาตรา 79 คือต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ