TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 20 april 2559
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 1053 ครั้ง

การวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ตามมาตรา 31

การวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ตามมาตรา 31

แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543

 มูลเหตุของข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้

มาตรา 31 เมื่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้รับแจ้งตามมาตรา 30 แล้ว  ให้พนักงาน ประนอมข้อพิพาทแรงงานดำเนินการประนอมข้อพิพาทแรงงานภายในกำหนดสิบวัน นับแต่วันที่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้รับหนังสือแจ้ง

ถ้าได้มีการตกลงกันภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้นำมาตรา 27 มาใช้บังคับโดยอนุโลม  

ในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ถือว่าข้อพิพาทแรงงานนั้นเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ และให้ฝ่ายที่แจ้งข้อเรียกร้องนำข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ส่งให้คณะกรรมการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้

เมื่อคณะกรรมการได้รับข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ให้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับข้อพิพาทแรงงานดังกล่าว

 

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิยื่นข้อพิพาทแรงงาน

-ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้อง (สหภาพแรงงาน และนายจ้าง)

 

ระยะเวลาการใช้สิทธิ 

-ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องนำข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ส่งให้คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้   

    

สถานที่ยื่นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้

-สามารถยื่นข้อพิพาทแรงงานฯได้ที่ ชั้น 3 กลุ่มงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน อาคารกระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400

 

การดำเนินการของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

-เมื่อคณะกรรมการได้รับข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ให้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับข้อพิพาทแรงงานดังกล่าว โดยเริ่มจากนัดคู่กรณีสอบข้อเท็จจริง ไกล่เกลี่ยเพื่อยุติปัญหาเบื้องต้น วิเคราะห์ข้อกฎหมาย เตรียมเอกสาร หาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้คณะอนุกรรมการพิจารณากฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พิจารณา ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 หรือครั้งที่ 3 เพื่อพิจารณากลั่นกรอง และให้ความเห็นในเบื้องต้น แล้วนำเสนอคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดและมีมติในเรื่องข้อพิพาทแรงงาน แล้วแจ้งผลการวินิจฉัยให้นายจ้าง/สหภาพแรงงานทราบ

การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เป็นการนำระบบชี้ขาดโดยบังคับมาใช้ ระบบชี้ขาดโดยบังคับ หมายถึงการใช้กฎหมายหรือคำสั่งจากผู้มีอำนาจตามกฎหมายบังคับให้ข้อพิพาทนั้นเข้าสู่การชี้ขาดของบุคคลหรือคณะบุคคลที่กำหนดไว้และกำหนดให้คู่กรณีต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะยุติข้อพิพาทแรงงานมิให้มีการปิดงานหรือนัดหยุดงานเป็นการจำกัดสิทธิในการต่อรองของลูกจ้างและจำกัดสิทธิของนายจ้างในการตัดสินใจดำเนินธุรกิจ

การส่งข้อพิพาทแรงงานให้คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์พิจารณา จะส่งทั้งข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันได้และที่ตกลงกันไม่ได้ กรรมการจะพิจารณาชี้ขาดทั้งฉบับ คำวินิจฉัยชี้ขาด มีผลใช้บังคับเป็นเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้วินิจฉัยชี้ขาด ยกเว้นกรณีที่เป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการเงิน จะมีผลใช้บังคับได้ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน

 

รูปแบบคำวินิจฉัยชี้ขาด

เนื่องจากคำวินิจฉัยชี้ขาดเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการปกครอง พ.ศ.2539 จึงมีรูปแบบดังนี้

1. มีข้อความหรือความหมายที่ชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้

2. มี วัน เดือน ปี ที่ทำคำสั่ง ซึ่งในคำวินิจฉัยจะระบุวันที่ทำคำสั่งเป็นวันเดียวกันกับวันที่ประชุมคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และมีมติดังกล่าว ตลอดจนมีชื่อและตำแหน่งของกรรมการพร้อมทั้งมีลายมือชื่อด้วย

3. ให้เหตุผลประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณา และข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ

4. อาจกำหนดระยะเวลาท้ายคำวินิจฉัยชี้ขาดให้นายจ้างปฏิบัติด้วย

 

การปฏิบัติตามคำสั่ง

มาตรา 32 คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการให้เป็นที่สุดฝ่ายยื่นข้อเรียกร้องและฝ่ายรับข้อเรียกร้องต้องปฏิบัติตาม แต่ถ้าเป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดที่เกี่ยวกับการเงินที่อยู่นอกเหนือกำหนดตามมาตรา 13(2) จะมีผลใช้บังคับได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วและให้คำวินิจฉัย        ชี้ขาดมีผลใช้บังคับเป็นเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้วินิจฉัยชี้ขาด หรือได้รับความเห็นขอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วแต่กรณี ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการตามมาตรา 32 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ