การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8870/2553
พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่าในการกู้ยืมเงิน ตนหรือบุคคลใดจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมายที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ไม่จำเป็นที่จำเลยทั้งสองจะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองทุกครั้งเป็นคราว ๆ ไป เพียงแต่จำเลยทั้งสองแสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายแม้เพียงบางคน แล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อนำเงินมาให้จำเลยทั้งสองกู้ยืม ก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดแล้ว ข้อสำคัญที่ทำให้ความผิดสำเร็จอยู่ที่ในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้เงินกู้ยืมไปจากผู้ถูกหลอกลวง ทั้งการกระทำดังกล่าวโดยสภาพเป็นการกระทำต่อบุคคลหลายคนจึงอาจกระทำต่อบุคคลเหล่านั้นต่างวาระกันได้ การกระทำที่จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำที่มีเจตนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปหรือประชาชนเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง มิได้พิจารณาจากองค์ประกอบความผิดที่ต้องกระทำต่อบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปเพียงอย่างเดียวเป็นเครื่องชี้เจตนาของผู้กระทำเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองกู้ยืมเงินจากโจทก์ร่วมทั้งสิบเจ็ด ผู้เสียหายที่ 11 และที่ 14 คนละวันเวลาและในสถานที่แตกต่างกัน โดยเจตนาให้เกิดผลต่อโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแยกต่างหากจากกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองแต่ละครั้งถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับโจทก์ร่วมและผู้เสียหายแต่ละคนแล้ว จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวง