TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 11 march 2559
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 1002 ครั้ง

บริหารอย่างไรถึงจะครองใจลูกน้อง

บริหารอย่างไรถึงจะครองใจลูกน้อง

                การชื้อใจคน อย่าอ่อนเกินไปจนลูกน้องไม่เคารพ อย่าแข็งเกินไปจนไม่สามารถทำงานได้ แต่จงทำดีเพื่อที่ให้ลูกน้องยอมรับและปฏิบัติตาม  เข้าใจเห็นใจลูกน้อง ผู้บังคับบัญชาไม่ใช่มองขึ้นสูงอย่างเดียวจะต้องมองต่ำบ้างเพื่อให้เห็นปัญหาของลูกน้องและสามารถเข้าใจ เข้าถึง และแก้ไขปัญหาได้  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบริหารใจคนให้ได้   หากไม่ได้ใจแล้วโอกาสที่จะได้รับความร่วมมือจึงเป็นไปได้ยาก   จึงขอแนะนำเทคนิคการครองใจเพื่อสร้างงานและสร้างความสำเร็จเพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับผู้บริหาร ที่ต้องการความสำเร็จ  ดังนี้

                 1.  ต้องมีภาวะผู้นำสูง    กล้าคิด  กล้าทำ  กล้าแสดงออก  กล้าให้การสนับสนุนเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าให้แก่ลูกน้อง  ให้ความเป็นธรรม  ไม่ลำเอียง   อย่าเป็นผู้แบ่งพรรคแบ่งพวกเสียเอง ควรสร้างวัฒนธรรม การประจบด้วยผลงาน  มากกว่าการประจบสอพลอ  เพื่อขอเลื่อนขั้น  เลื่อนตำแหน่ง

                2.  การสั่งการและมอบหมายงานควรใช้มธุรสวาจา    มีความสุภาพ   ให้เกียรติผู้อื่น          รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะอย่างตั้งใจ   มีความอ่อนหวาน   และให้กำลังใจ    อย่าติ หรือตำหนิลูกน้องต่อหน้าผู้คนจำนวนมากหรือในที่สาธารณชนโดยเด็ดขาด    และต้องกล่าวชมอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเขาทำงานได้ดี

                3.  รักษาน้ำใจของลูกน้องและเพื่อนร่วมงาน     อย่าแก้ไขงานหนังสือบ่อยๆ   ควรดูให้เสร็จในคราวเดียว   แก้ซ้ำๆ ซากในหนังสือฉบับเดียวหากเกิดจากเราแก้ไขหรือเพิ่มเติมไม่ครบถ้วน          ก็จะต้องขอโทษเขา   เพราะความผิดพลาดเกิดจากเรา   ที่เป็นเหตุทำให้เขาต้องพิมพ์ใหม่  ทำใหม่

                4.  รู้จักใช้งานด้วยความเกรงใจ และเข้าใจถึงความจำเป็นส่วนตัว   เช่น ลูกน้องบ้านอยู่ไกล ก็ไม่ควรใช้งานในเวลาใกล้เลิกงานเพราะนอกจากคุณภาพของงานจะไม่ดีแล้ว   ยังสร้างความกดดันให้แก่ลูกน้องอีกด้วย

                5.  ใช้คนให้เหมาะกับงาน   ใครถนัดอะไร ชอบอะไรให้เขาทำ เขาจะทำอย่างเต็มที่เพราะมีความสุขในการทำงานและสิ่งที่ได้คือผลงานจะออกมาดี หากให้ทำงานที่เขาไม่ถนัด  ไม่มีประสบการณ์ในด้านนั้นๆ มาก่อน  นอกจากผลงานจะไม่เกิดแล้ว ยังต้องเสียทั้งเงินและเวลาอีกด้วย

               6.  อย่าทำลายบรรยากาศในการทำงานด้วยการระเบิดอารมณ์ใส่ลูกน้อง    ต้องพิจารณาความผิดนั้น โดยแก้ไขที่ตนเอง ต้องเลิกนิสัย วางท่า วางอำนาจ  จนใหญ่คับห้อง นอกจากไม่ได้ใจแล้วยังถูกนินทาลับหลังเสมอ จะขอความร่วมมือจากใครก็จะได้รับการปฏิเสธทันที

                7.  หากลูกน้องทำผิดในด้านใด ไม่ควรต่อว่าในทันที    ต้องมาตรวจสอบดูว่า เราสั่งผิดหรือไม่ หากไม่เป็นเพราะเราสั่งผิด แต่เป็นเพราะเขาทำไม่ถูกก็ต้องมาสอนงานและแนะนำให้ถูกต้องอย่าให้เขาทำเอง คิดเอง สุดท้ายงานก็จะไม่ประสบความสำเร็จสักที

               8.  หากเอกสารที่ผ่านเราไปเกิดผิดพลาด ไม่ควรโทษลูกน้อง   เพราะเราเองก็มีส่วนผิดเหมือนกัน ที่ปล่อยให้เอกสารนั้นผ่านเราไป โดยมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น อย่าเซ็นผ่านไปโดยไม่มีการตรวจสอบ หากผิดพลาดขึ้นมาจำไว้เลยว่า คุณนั่นแหล่ะคือคนแรกที่จะถูกตำหนิก่อนใคร

                9.  ทำตัวเป็นครูที่ดี   แม่ที่ดี    ต้องกล้าพูด  กล้าสอน ในสิ่งที่ดี    และเป็นตัวอย่างที่ดี          หากผู้บริหารทำผิดระเบียบของหน่วยงานเสียเองแล้วคุณจะไปว่ากล่าวลูกน้องได้อย่างไร     ดังนั้น  จะสอนคนอื่นต้องสอนตัวเองให้ดีก่อน

                10.  ต้องปกป้อง สนับสนุน ลูกน้องที่ดี  เมื่อเขาทำงานให้เราอย่างเต็มที่การพิจารณาความดี ความชอบก็ต้องเต็มร้อย เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน และเมื่อใดที่เขาทำผิดก็ต้องตักเตือนลงโทษลูกน้องที่ทำผิดอย่าปล่อยไว้ จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ดีไปเพราะทำผิด ก็ไม่ถูกลงโทษ จึงเป็นเยี่ยงอย่างแก่คนอื่นให้นำไปปฏิบัติบ้าง

               11.  ไปร่วมงานส่วนตัวของลูกน้องตามโอกาสอันควร   เช่น   งานศพญาติ    งานบวช    งานแต่ง

               12. มีอารมณ์ขันอยู่เสมอ แต่ไม่พร่ำเพรื่อ   วางตัวให้เหมาะสมกับการเป็นหัวหน้า  อย่าพูดส่อเสียด  สองแง่สองง่าม

               13. เป็นผู้ประสานรอยร้าวและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน    หรือเรื่องส่วนตัว

               14. หมั่นพัฒนาตนเอง และเรียนรู้งานอยู่เสมอ ให้สมกับเป็นหัวหน้า มีใช่ต้องถามลูกน้องอยู่เรื่อยๆ จะปฏิเสธว่าตนเองไม่รู้ไม่ถนัดไม่ได้   เพราะเราเป็นหัวหน้ามิใช่ลูกน้อง ลูกน้องไม่รู้เราต้องสอนงาน หากเราไม่รู้ซะเองจะสอนงานใครได้ล่ะ   จึงต้องรีบไขว่คว้าหาความรู้อยู่เสมอ   และต้องคิดเสมอว่า ไม่มีสิ่งใดจะยากเกินกว่าความสามารถของเรา

                นอกจากนั้น ก็เป็นเรื่องของความอะลุ่มอล่วย ให้ความเป็นกันเอง ให้ความช่วยเหลือ ถามถึงทุกข์สุข เพราะคนไม่ได้อยู่กับงานตลอดเวลา คนนอกจากจะมีชีวิตงานแล้ว เขาก็จะต้องมีชีวิตส่วนตัว  ชีวิตครอบครัว เพราะฉะนั้นผู้บริหารงานจำเป็นต้องมองให้เห็นตรงนี้ด้วย