TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 25 july 2562
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 708 ครั้ง

ซื้อขายผ่าน Facebook แล้วไม่ได้รับสินค้า

ข้อเท็จจริง  

ผู้ร้องเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 3 ได้สั่งจองเพชรแท้ผ่านทาง Facebook โดยต้องโอนเงินให้กับผู้ขายก่อนและรับเพชรทีหลัง ผู้ร้องจึงได้ตกลงซื้อและโอนเงินตามที่ได้ตกลงกันเป็นจำนวน 500,000 บาท กำหนดรับเพชร ในวันที่ 1 มกราคม 2562 แต่ผู้ขายไม่มาตามนัดและได้ปิด Facebook รวมถึงบัญชีธนาคารดังกล่าว จึงไม่สามารถติดต่อกับคู่กรณีผู้ขายได้อีก ผู้ร้องและผู้เสียหายคนอื่นๆถูกผู้ขายเพชรดังกล่าวโกงเงินจากการขายเพชร รวมเป็นมูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท จึงได้รวมตัวกันแจ้งความร้องทุกข์ที่ ปอท.(กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) ในคดีของผู้เสียหายคนอื่นๆนั้น พนักงานสอบสวนได้รับแจ้งความและออกหมายเรียกแล้ว ส่วนคดีของผู้ร้องยังมิได้ดำเนินการแจ้งความเนื่องจากผู้ร้องเกรงว่าจะกระทบต่อการเรียน หลังจากนั้นผู้ร้องได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ปอท.ว่าคู่กรณีได้มอบตัวและมีทนายความเข้าสู้คดีในเบื้องต้น ผู้ต้องหาให้การว่าถูกโกงโดยคนชื่อศักดิ์ และคู่กรณีแจ้งว่าจะฟ้องร้องคดีกับผู้ที่แจ้งความดำเนินคดีกับตน

ประเด็นคำถาม

1. หากผู้ร้องมีความประสงค์จะดำเนินคดีทางอาญากับคู่กรณีควรทำอย่างไร และการดำเนินคดีกับคู่กรณีจะมีผลกระทบต่อการเรียนของผู้ร้องหรือไม่

2. ผู้ร้องต้องจัดหาทนายความในการขึ้นศาลหรือไม่

 

ข้อกฎหมาย

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 และ 341

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 และ 44/1  

การให้คำปรึกษา

กรณีตามปัญหา การที่ผู้ร้องได้สั่งซื้อเพชรกับคู่กรณีผ่านทางแอพพลิเคชั่นเฟสบุ๊ค โดยชำระเงินจำนวน 500,000 บาท ผ่านบัญชีธนาคารของผู้ขายเพชรครบถ้วนแล้ว โดยผู้ขายเพชรตกลงจะส่งมอบเพชรให้แก่ผู้ร้องในวันที่  1 มกราคม 2562  แต่เมื่อถึงกำหนดกลับไม่ส่งมอบเพชรให้แก่ผู้ร้อง

นอกจากนี้ ผู้ขายเพชรได้ปิดการใช้งานแอพพลิเคชั่นเฟสบุ๊ค รวมถึงบัญชีเงินฝากธนาคารที่ผู้ร้องโอนเงินค่าเพชร และหลบหนีไปไม่สามารถติดต่อได้นั้น ถือได้ว่าผู้ขายเพชรมีเจตนาทุจริต กระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้ขายเพชรเอง โดยการหลอกลวงผู้ร้องว่าหากผู้ร้องชำระเงินค่าเพชรครบจำนวนแล้วจะส่งมอบเพชรให้แก่ผู้ร้องในวันที่1 มกราคม 2562  ซึ่งเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และโดยการหลอกลวงผู้ร้องเช่นว่านั้น ทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ร้องเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตามป.อ. มาตรา 341

อย่างไรก็ดี หากผู้ร้องต้องการดำเนินคดีอาญากับผู้ขายเพชรในความผิดฐานดังกล่าว เมื่อความผิดฐานฉ้อโกงเป็นความผิดอันยอมความได้ ตามป.อ. มาตรา 348 ดังนั้น ผู้ร้องจะต้องดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจในท้องที่ทีเกิดเหตุภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นเป็นอันขาดอายุความ ตามป.อ. 96 หรือร้องทุกข์ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ทั้งนี้ ผู้ร้องต้องแนบภาพถ่ายข้อความประกาศขายเพชร และข้อความสนทนาระหว่างผู้ร้องและผู้ขายเพชร ที่ระบุข้อความเกี่ยวกับการขายเพชร การชำระเงิน และกำหนดเวลาส่งมอบ พร้อมทั้งหลักฐานการโอนเงินค่าเพชรเข้าบัญชีธนาคารของผู้ขายเพชร

ขั้นตอนก่อนการดำเนินคดีอาญา กรณีมีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเรียบร้อยแล้ว พนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกเจ้าของบัญชีมาสอบปากคำ และหากผู้กระทำความผิดยอมเจรจาไกล่เกลี่ยคืนเงินให้แก่ผู้เสียหาย เพื่อขอให้ผู้เสียหายถอนแจ้งความหรือยุติคดี แต่หากผู้กระทำความผิดไม่ยอมคืนเงินให้ ทางพนักงานสอบสวนก็จะดำเนินการตามกฎหมาย โดยส่งสำนวนสอบสวนให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องต่อไป

ภายหลังจากที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีความผิดฐานฉ้อโกงต่อศาลแล้ว และผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ส่งมอบเพชรหรือเงินจำนวน 500,000 บาท ซึ่งราคาที่ผู้ร้องสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดคืน ตามป.วิ.อ. มาตรา 43 กำหนดให้พนักงานอัยการที่ยื่นฟ้องคดีอาญา ต้องเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย นอกจากนี้ หากผู้ร้องเห็นว่าตนเองได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้ร้องจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ตามป.วิ.อ มาตรา 44/1 ทั้งนี้ ในการดำเนินคดีอาญากับคู่กรณีนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียนของผู้ร้อง โดยผู้ร้องสามารถจัดหาทนายความเพื่อดำเนินคดีแทนได้