TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 4 march 2559
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 1294 ครั้ง

ลูกจ้างถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิด

ลูกจ้างถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิด

 

                ปัญหาที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้คือ “ลูกจ้างถูกนายจ้างเลิกจ้างทั้งๆที่ไม่ได้กระทำความผิด” ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานได้บัญญัติไว้เพื่อป้องกันการเกิดการเอาเปรียบของนายจ้าง เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่ลูกจ้างทั้งหลาย   ซึ่งต้องพิจารณาดังต่อไปนี้

             คำว่า "การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม" ไม่มีกฎหมายใดเขียนคำนิยามไว้ มีเพียงบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ระบุว่า

"การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่า ลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน โดยให้ ศาลคำนึงถึงอายุของ ลูกจ้าง  ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง  ความเดือดร้อนของลูกจ้าง เมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณา"

 

บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ระบุไว้ว่าอย่างไรเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แต่ให้อำนาจศาลแรงงานในการสั่งนายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหาย ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าศาลแรงงานมีดุลพินิจอย่างกว้างขวางมากในการพิจารณาว่า การเลิกจ้างลูกจ้างเป็นธรรมต่อลูกจ้างหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในแต่ละคดีว่าพฤติการณ์ในการเลิกจ้างเป็นอย่างไร ซึ่งในทางปฏิบัติจึงมักเกิดปัญหาโต้แย้งหรือพิพาทกันอยู่เสมอ โดยนายจ้างอ้างว่า การเลิกจ้างเป็นธรรมแล้ว จึงไม่ต้องรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง อีกส่วนลูกจ้างก็จะอ้างว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและขอให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงานหรือจ่ายค่าเสียหายให้อีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากค่าชดเชยที่พึงได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว ผู้ที่ตัดสินในเรื่องนี้คือ ศาลแรงงานนั่นเอง  การทำความเข้าใจในเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจึงต้องศึกษารายละเอียดและคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่ผ่าน ๆ มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหากคดีพิพาทกันถึงศาลแล้ว ผลคดีจะต้องออกมาเหมือนเดิม เนื่องจากกระบวนการพิจารณาในศาลอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนแตกต่างกันออกไปได้

 

ทั้งนี้ ไม่ได้มีเจตนาทำให้นายจ้างหรือลูกจ้างรู้สึกเคว้งคว้างในการปฏิบัติ เพียงแต่เตือนให้นายจ้างและลูกจ้างได้ระมัดระวังหรือรอบคอบไว้ก่อนที่จะกระทำการใด ๆ ลงไปนั่นเอง

 

แนวคำพิพากษาฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4362/2549  ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ให้อำนาจศาลแรงงานพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหายตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น จะพิพากษาให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายในระหว่างลูกจ้างถูกพักงานและถูกเลิกจ้างจนถึงเวลาที่นายจ้างรับกลับเข้าทำงานไม่ได้ แต่การที่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 เมื่อจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยแม้โจทก์จะไม่ได้ทำงานให้เลย