TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 1 december 2559
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 590 ครั้ง

"ลีสซิ่ง" การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายที่เปลี่ยนแปลงไป

การให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง คือ สัญญาให้เช่าทรัพย์สิน ซึ่งผู้ให้เช่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินและนำออกให้เช่าโดยให้คำมั่นว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า ผู้เช่ามีสิทธิเลือกที่จะซื้อทรัพย์สินที่เช่าหรือส่งคืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ให้เช่าก็ได้ [1] จากความหมายดังกล่าวการเช่าแบบลีสซิ่งจึงถือเป็นการเช่าทรัพย์สินประเภทหนึ่งซึ่งโดยหลักผู้จ่ายค่าเช่าต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

 

เดิมมีกฎหมาย[2] กำหนดให้การเช่าแบบลิสซิ่งที่เข้าเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อดังต่อไปนี้ ได้รับยกเว้นไม่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายได้แก่

  1. ผู้ให้เช่าเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 60 ล้านบาท
  2. ผู้เช่าเป็นนิติบุคคลและ
  3. มีระยะเวลาเช่าตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปหรืออาจไม่ถึง 3 ปีก็ได้หากทรัพย์สินที่ให้เช่า ผู้ให้เช่ายึดมาจากผู้เช่ารายอื่น

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา อธิบดีกรมสรรพากรออกคำสั่งยกเลิกข้อยกเว้นดังกล่าว นอกจากนี้ยังให้ยกเลิกความหมายของคำว่า "การให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง"[3] ด้วยผลของคำสั่งฉบับนี้ทำให้การจ่ายค่าเช่าแบบลีสซิ่ง นิติบุคคลผู้จ่ายค่าเช่ามีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกกรณี

 

อนึ่ง สำหรับการยกเลิกความหมายของคำว่า "สัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง" นั้น ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเพียงการยกเลิกเพื่อให้สอดคล้องกับความมุ่งหมายที่จะยกเลิกการยกเว้นการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากการเช่าลักษณะนี้เท่านั้น ตราบใดที่การเช่าทรัพย์สินมีข้อกำหนดว่า เมื่อสัญญาครบกำหนดผู้เช่ามีสิทธิเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่าหรือไม่ก็ได้ การเช่าเช่นนี้ก็ต้องถือว่าเป็นการเช่าแบบลีสซิ่งตามความหมายของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อยู่นั่นเอง

 

นอกจากนี้ โปรดสังเกตว่าคำสั่งฉบับนี้ใช้บังคับสำหรับการจ่ายค่าเช่าตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2559 เป็นต้นไป ดังนั้น แม้ขณะทำสัญญาเช่าแบบลีสซิ่ง ผู้จ่ายค่าเช่าจะได้รับยกเว้นไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายก็ตาม แต่หากมีการจ่ายค่าเช่าตั้งแต่วันดังกล่าว ผู้จ่ายค่าเช่าต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกกรณี

 

สำหรับอัตราภาษีที่ผู้จ่ายค่าเช่าต้องหักนั้นยังคงมี 4 อัตราได้แก่

  1. อัตราร้อยละ 15 สำหรับกรณีผู้ให้เช่าไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเป็นผู้ซึ่งไม่ได้อยู่ในประเทศไทย [4]
  2. อัตราร้อยละ 10 สำหรับกรณีผู้ให้เช่าเป็นมูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ [5]
  3. อัตราร้อยละ 5 สำหรับกรณีผู้ให้เช่าเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการในประเทศไทย [6]
  4. อัตราร้อยละ 1 สำหรับกรณีผู้ให้เช่าเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับค่าเช่าเรือตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชย์นาวี [7]

สุดท้ายนี้ ผลของคำสั่งฉบับนี้ย่อมทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำภาษีที่ตนถูกหักไปเครดิตตอนคำนวณยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการมีสิทธิได้รับเงินภาษีคืน อย่างไรก็ดีการจะขอรับภาษีคืนนั้น ผู้ประกอบการต้องมีความมั่นใจว่าตนได้เสียภาษีมาแล้วถูกต้อง มิฉะนั้น ผู้ประกอบการอาจต้องเสียภาษี เสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มได้ ดังนั้น ในกรณีที่ผู้ประกอบการประสงค์จะขอคืนภาษี ผู้เขียนขอแนะนำให้ท่านผู้ประกอบการทั้งหลายตรวจสอบสุขภาพด้านภาษี (Tax Health Check) จากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายภาษีอากรเสียก่อนเพื่อประเมินว่ากิจการของท่านยังคงมีข้อบกพร่องที่ต้องปรับปรุงหรือมีความเสี่ยงจากการถูกประเมินภาษีหรือไม่ อย่างไร ไม่เช่นนั้นแล้วการขอคืนภาษีอาจทำให้ผู้ประกอบการถูกประเมินภาษีเพิ่มขึ้นมากกว่าจำนวนภาษีที่ท่านขอคืนก็เป็นได้