TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 2 march 2559
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 1347 ครั้ง

ลูกจ้างทำงานบ้านไม่เข้าเป็นผู้ประกันตน ม.33

ลูกจ้างทำงานบ้านไม่เข้าเป็นผู้ประกันตน ม.33

เลขาฯสปส.เผยลูกจ้างทำงานบ้านเข้าเป็นผู้ประกันตน ม. 33 ไม่ได้ เหตุเป็นลูกจ้างของนายจ้างบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจ

วันอังคารที่ 1 มีนาคม 2559 เวลา 20:16 น.

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงาน  เปิดเผยว่า ตามที่ก่อนหน้านี้เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านแห่งประเทศไทยยื่นหนังสือ ต่อสปส. เพื่อเรียกร้องขอเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33   โดยอ้างถึงมาตรา 4 ที่ระบุว่า ลูกจ้างหมายความว่าผู้ซึ่งทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างในพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2558 นั้น สปส.ได้ตรวจสอบในแง่กฎหมายแล้วพบว่า ลูกจ้างทำงานบ้านไม่สามารถที่จะเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้ เนื่องจาก ปัจจุบัน สปส.มีพระราชกฤษฎีกากำหนดลูกจ้างตามมาตรา 4 (4) แห่งพ.ร.บ.ประกันสังคมซึ่งไม่สามารถเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้ในหลายกรณี เช่น ลูกจ้างของเนติบัณฑิตยสภา ลูกจ้างสภากาชาดไทย  ลูกจ้างของนายจ้างซึ่งประกอบกิจการค้าเร่หรือการค้าแผงลอย รวมถึงลูกจ้างของนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งงานที่ลูกจ้างทำนั้น ไม่ได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย ซึ่งลูกจ้างทำงานบ้านก็อยู่เข้าข่ายกรณีนี้ และการเก็บเงินสมทบจากนายจ้างก็ทำได้ลำบาก เนื่องจากลูกจ้างทำงานบ้านอยู่ในเคหะสถานซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวของนายจ้าง ไม่ใช่สถานประกอบการ

เลขาธิการสปส. กล่าวอีกว่า สปส.เตรียมว่าจ้างสถาบันการศึกษาทำวิจัยศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านว่าปัจจุบันมีลูกจ้างทำงานบ้านที่เป็นคนไทยจำนวนเท่าใด ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการอย่างไร และต้องการความช่วยเหลือเรื่องใดบ้าง    ขณะนี้อยู่ระหว่างหาสถาบันการศึกษาเพื่อทำวิจัยโดยกำหนดเวลาทำวิจัย 1 ปี ตั้งแต่เดือน ก.ค.2559-ก.ค.2560 โดยจะสุ่มสำรวจลูกจ้างทำงานบ้านทั่วประเทศ จำนวน 2,000-3,000 คน เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการพิจารณาว่าควรแก้ไขกฎหมายประกันสังคมเพื่อให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือไม่ หรือควรจะพัฒนาระบบประกันสังคม มาตรา 40 เพื่อรองรับแรงงานกลุ่มนี้  อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น สปส.จะส่งเสริมให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 40 เพื่อให้มีหลักประกันในชีวิต ซึ่งขณะนี้มาตรา 40 มี 2 ทางเลือกและอนาคตสปส.จะเพิ่มทางเลือกที่ 3.