TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 21 march 2559
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 5087 ครั้ง

จดทะเบียนสมรสกับคนต่างชาติ

 

ขั้นตอนในการจดทะเบียนสมรสกับคนต่างชาติ

 

1. ขอใบรับรองความโสดของว่าที่สามี/ภรรยาชาวต่างชาติที่สถานฑูตประเทศนั้นๆ - เวลาชาวต่างชาติมาจดทะเบียนสมรสในไทย เค้าต้องไปที่สถานฑูตของประเทศตัวเองเพื่อยื่นคำร้องรับรองความโสดของตัวเองก่อน (ป้องกันการจดทะเบียนซ้ำซ้อน) 

 

เอกสาร = ใบรับรองความโสด (พิมพ์รายละเอียดมาให้เรียบร้อย ปกติสามารถโหลดได้จากเวบไซด์สถานฑูต), ก๊อปปี้พาสปอร์ต, ก๊อปปี้พาสปอร์ตหน้าที่ประทับตราการเดินทางเข้าไทย

 

ค่าธรรมเนียม = ก็แล้วแต่ละประเทศจะกำหนด แต่ของอังกฤษจัดค่าเสียหายไป 3,250 บาท

 

เวลาไปติดต่อเอาเอกสารราชการขอแนะนำนิดนึงว่าให้ไปตอนที่เค้าเพิ่งเปิดเลย (ประมาณ 8:30 น.) เพราะว่าเราจะได้คิวแรกๆ ไม่ต้องรอรับรองเอกสารนาน ถ้าไปยื่นประมาณ 10:00 น. บางที่เค้าอาจให้เอกสารกลับมาตอนบ่าย ซึ่งก็ทำให้เสียเวลาอีก เราเองก็ไปตอนสถานฑูตอังกฤษเปิด (อยู่ใกล้ๆ รถไฟฟ้าเพลินจิต เดินนิดเดียวถึง)

 

พอสถานฑูตเปิดก็ยื่นเอกสารให้เจ้าหน้าที่ข้างหน้าดูแล้วเค้าก็ตรวจค้นกระเป๋า ฝากมือถือ โน้ตบุ๊ค และอุปกรณ์***เล็กโทรนิคต่างๆ ไว้ตรงป้อมยาม โดนตรวจร่างกายแล้วก็เข้าไปยื่นเอกสารได้ ซึ่งคนยื่นก็เป็นว่าที่สามี/ภรรยาที่เป็นชาวต่างชาติ เจ้าหน้าที่จะตรวจความเรียบร้อยของเอกสารแล้วก็ให้จ่ายเงิน จากนั้นก็แล้วแต่ดวงว่าจะได้รับเลยหรือว่าต้องรอตอนบ่าย พอดีของเราเจ้าหน้าที่บอกว่า 20 นาที เลยนั่งรอให้สถานฑูตไป แต่ว่าได้จริงหลังจากยื่นเอกสารประมาณ 1 ชม. 

 

มุมขอบ่น = จริงๆ ขั้นตอนตรงนี้ก็คือตรวจความถูกต้องของสถานะคนที่จะมาเป็นสามี/ภรรยาเราว่ายังโสดจริงหรือเปล่า ก็เข้าใจได้ว่าอาจใช้เวลานานในการตรวจสอบ ซึ่งก็จะไม่ว่าอะไรถ้าเจ้าหน้าที่จะบอกว่าจะได้ในอีก 1-2 ชม. แต่นี่บอกว่าได้ใน 20 นาที แต่เอาเข้าจริงปาเข้าไปชม.กว่าๆ เลยคิดว่าที่เค้าบอกว่า 20 นาทีนี่คือ หลังจากนี้ 20 นาทีไปจนถึงเวลาที่ทำเสร็จถึงได้มากกว่าจะแปลว่าอีก 20 นาทีจะได้ เราก็มองนาฬิกาตลอดมองเจ้าหน้าที่ตลอด พะว้าพะวนไปหมด ถ้าจะได้ช้ากว่าที่บอกก็ควรแจ้งคนที่มาทำเอกสารด้วยจะได้สบายใจกันทั้งสองฝ่าย

 

2. แปลเอกสารรับรองความโสดเป็นภาษาไทย - เป็นขั้นตอนที่โหด มันส์ ฮา สำหรับเรามาก จริงๆ ไม่น่าจะมีอะไรถ้าคนไทยไม่เอาเปรียบคนต่างชาติ ขอยกไปเขียนในมุมขอบ่นนะคะ ที่ต้องเอาเอกสารรับรองความโสดไปแปลนี่ก็เพราะว่าเวลาจดทะเบียนจะจดเป็นภาษาไทยเอกสารก็ต้องเป็นภาษาไทย (เราต้องเอาข้อมูลตรงนั้นไปกรอกใบคำร้องที่สำนักงานเขตหรืออำเภอตอนจดทะเบียน) เลยต้องมีขั้นตอนนี้แทรกเข้ามา

 

เอกสาร = ใบรับรองความโสดที่ได้การรับรองจากสถานฑูต

 

ค่าแปล = แล้วแต่ดวงและความสามารถในการต่อรองราคา ปกติแปลด่วนรับภายใน 30-40 นาที จะอยู่ที่ 200-500 บาท

 

สถานที่ = แถวๆ รถไฟฟ้าเพลินจิต หรือ อโศก จะมีร้านแปลด่วนอยู่เยอะ ก็ต้องเดินๆ ต่อราคาดู (เราเอาไปแปลที่ตรงข้ามตึกมหาทุน ร้านในตัวตึกแพงมากกกกก)

 

มุมขอบ่น = พอดีสามีเราช่วยพาคนอังฤษอีกคนที่จะทำเรื่องรับรองโสดเหมือนกันไปหาที่แปลด้วย เราเลยมีฝรั่งสองคนเดินหาที่แปลเอกสารแล้วก็เลยโดนโก่งราคากันไปอย่างน่าหงุดหงิด เราเอาไปแปลแถวๆ ตึกมหาทุนข้างๆ รถไฟฟ้าเพลินจิต (จะบอกว่าร้านตรงตัวตึกโขกราคามากๆ) พอเค้าเห็นเรามีฝรั่งสองนายก็บอกเลยว่า 500 บาทแบบด่วน ซึ่งเราก็อ่านมาจากคนที่เคยไปทำมาก่อนเค้าบอกว่า 200-300 บาทเท่านั้น เราก็งงเลยสิว่าทำไมแพงจัง ก็เดินๆ ถามไปเกือบห้าร้านก็ยัง 500 บาทอยู่ เลยนึกเอะใจว่าเรากำลังโดนโขกราคาเพราะมีฝรั่งหรือเปล่า? เลยให้สามีกับเพื่อนยืนข้างนอกร้านแล้วเราเดินเข้าไปคุยเอง ก็เลยได้ราคา 250 บาทมา (แล้วก็รู้สึกว่าทำไมคนไทยเอาเปรียบฝรั่งจังเลย ขนาดเราเป็นคนไทยไปด้วยกันยังโดนขนาดนี้แล้วถ้าฝรั่งลุยเดี่ยวนี่จะเจอขนาดไหน?) 

 

3. เอาเอกสารที่แปลไปรับรองที่กงศุลแจ้งวัฒนะ - อันนี้เหมือนเล่นวิ่งผลัดหรือวิ่งมาราธอนในตัวตึกชั้นสามของกรมกงศุล จนตอนนี้ก็ยังไม่เข้าใจว่าจะทำขั้นตอนต่างๆ ให้งงทำไมมากขนาดนั้น? ถ้าจะให้กงศุลรับรองเอกสารแบบด่วนต้องไปก่อนเที่ยวด้วยนะคะ ถ้าเลยเที่ยงไปแล้วก็รอวันถัดไปดีกว่า

 

เอกสาร = ใบรับรองความโสดตัวจริง, ใบรับรองความโสดที่เอาไปแปล, ก๊อปปี้พาสปอร์ตของว่าที่สามี/ภรรยา, ใบคำร้องขอการรับรองจากกงศุล (หยิบได้จากโต๊ะกรอกคำร้องที่กงศุลได้เลย)

 

สถานที่ = ชั้นสามของตึกกรมกงศุล แจ้งวัฒนะ (เดินขึ้นไปจะมีสองฝั่งตรงไปที่ฝั่งคนเยอะๆ)

 

ค่าธรรมเนียม = แบบด่วน 800 บาท รอรับในวันเดียว, แบบธรรมดา 200 บาท รอรับภายในสองวันทำการ (แนะนำให้ทำแบบด่วนเพราะไม่ต้องเดินทางไปแจ้งวัฒนะบ่อยๆ ยังไงก็ต้องรออยู่แล้วทำวันเดียวให้เสร็จเลยดีกว่า)

 

(เหตุการณ์จริงขอเขียนในมุมขอบ่น ถ้าใครจะอ่านเอาข้อมูลก็ข้ามตรงนั้นไปได้เลยนะคะ ต่อจากนี้จะสรุปวิธีเดินล่าคำรับรองให้ค่ะ) 

 

3.1 พอขึ้นชั้นสามของกรมกงศุลแล้วก็เดินไปตรงที่กองสัญชาติและนิติกรณ์ ตรงหน้าเคาท์เตอร์จะมีมุมให้กรอกใบคำร้อง ก็ให้ว่าที่สามี/ภรรยา กรอกใบคำร้องฉบับที่เป็นภาษาอังฤษให้เรียบร้อยก่อน แล้วก็หยิบเอกสารต่างๆ ออกมาเตรียมให้เจ้าหน้าที่ตรวจ

 

3.2 ต่อคิวตรงประชาสัมพันธ์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดูเอกสารและเค้าจะกดบัตรคิวให้ (ว่าจะเอาด่วนหรือปกติ) ถ้าเอาด่วนก็ต้องเข้าไปพบหัวหน้าเพื่อเซ้นต์รับรองก่อน 

 

3.3 เดินตามลูกศรเข้าไปในห้องข้างในเพื่อให้หัวหน้าเซ็นต์ ก็นั่งรอตามคิวพอถึงคิวเราก็เอาเอกสารให้หัวหน้าดู เค้าก็ตรวจความเรียบร้อยแล้วก็ถามว่าทำไมเอาด่วน ก็ตอบเหตุผลไป (บางคนก็ไม่โดนถาม) แล้วเค้าก็เซ็นต์ให้

 

3.4 เอาเอกสารที่เซ็นต์แล้วมาส่งที่หน้าห้องตรงประชาสัมพันธ์อีกครั้ง เค้าจะตรวจดูว่าหัวหน้าเซ้นต์แล้วหรือยัง จากนั้นก็กดบัตรคิวให้ไปจ่ายเงิน ก็ต้องนั่งรอคิวตัวเองไปตรงช่อง Express

 

3.5 พอถึงคิวเรา เจ้าหน้าที่จะคำนวณว่าต้องจ่ายเงินเท่าไหร่ กับตรวจสอบเอกสารครั้งสุดท้ายแล้วเอาเงินเราแนบกับเอกสารคืนเรามา

 

3.6 เอาเอกสารเดินไปส่งที่ช่อง 1-2 (ตรงข้างๆ ประชาสัมพันธ์) ก็ยื่นให้เจ้าหน้าที่แล้วเค้าจะบอกให้เรารอเรียกชื่อ ก็ยืนรอแถวๆ นั้นประมาณ 15-20 นาที

 

3.7 พอเจ้าหน้าที่ประกาศชื่อก็เดินไปรับใบเสร็จ แล้วเค้าจะบอกให้รอไปประมาณ 3-4 ชม. ระหว่างนี้ก็ไปหาข้าวหาขนมกินรอไปได้เลย (แนะนำให้เอาหนังสือหรือเกมส์ไปเล่นระหว่างรอเพราะมันนานมากกกก)

 

3.8 ผ่านไป 2-3 ชม. ควรขึ้นไปตรวจดูกับเจ้าหน้าที่ช่อง 5-6 ว่าเอกสารเราได้หรือยัง เผื่อเราโชคดีได้ก่อนเวลานัด และไม่ต้องใส่ใจกับตัวเลขคิวข้างบนเคาท์เตอร์ เพราะเจ้าหน้าที่จะใช้วิธีเรียกชื่อเอา ต้องคอยฟังดีๆ 

 

3.9 พอได้รับเอกสารแล้วตรวจดูให้ครบว่าได้รับการรับรองเรียบร้อยทุกหน้าหรือเปล่า (เค้าจะเอาสก๊อตเทปพันตรงหัวมุมเอกสารใบรับรองโสดภาษาอังกฤษกับฉบับแปลไว้ด้วยกัน และประทับตราสีเขียวๆ แดงๆ ไว้ตรงมุมนั้น) จากนั้นให้เดินไปถ่ายเอกสารเลย อย่าให้คนถ่ายเอกสารดึงตราประทับตรงหัวมุมออกหาไม่ต้องเดินกลับมาทำใหม่ทั้งหมดนะคะ

 

มุมขอบ่น = มันเยอะมาก ยิบย่อยอะไรงงไปหมด ฝรั่งสองคน(สามีและเพื่อน)ที่เพิ่งมาเจอกับระบบไทยงงเป็นไก่ตาแตกไปเลย เพราะโดนโยนไปโน่นไปนี่เดินวุ่นวายกันไปทุกขั้นตอน ขนาดคนไทยแท้ๆ แบบเรายังมึนๆ เลยว่าต้องไปตรงไหนยังไงต่อ จริงๆ ถ้าเค้าแยกเป็นแบบขอด่วนกับขอปกติตั้งแต่แรก แล้วก็ยื่นเอกสาร จ่ายเงิน จากนั้นจะให้รอก็รอไป แบบนี้จะง่ายและสะดวกกว่าเดินไปเดินมารึเปล่า? คือเราไม่เคยเข้าใจระบบราชการไทยเลยว่าทำไมต้องทำให้มันวุ่นวายหลายขั้นตอนแบบนี้ เป็นการเพิ่มภาระทั้งเจ้าหน้าที่และคนมาติดต่องานราชการ แล้วก็ทำงานกันช้ามาก ไม่มีระบบ ไม่มีมาตรฐาน (คนที่มาทีหลังเราได้เอกสารก่อนเราเฉยเลย) ได้เอกสารมาเจ้าหน้าที่ก็กองไว้แล้วรอให้เจ้าของมาติดต่อรับเอกไม่ประกาศชื่อให้รวดเร็ว (จริงๆ ทุกคนมีบัตรคิว หน้าเคาท์เตอร์ก็มีป้ายดิจิตัลที่กดเลขได้ แต่เค้าก็ไม่ใช้ ดันมาประกาศเรียกชื่อง่ายๆซะงั้น ใครไม่ได้ยินก็โชคร้ายไป)

 

4. จดทะเบียนสมรส - เป็นขั้นตอนสำคัญที่สุด เราสามารถไปจดทะเบียนสมรสได้ทุกสำนักงานเขตและทุกอำเภอ ก็เลือกเอาที่ที่สะดวก (เราเลือกที่บางรักเพราะว่าเจ้าหน้าที่รู้เรื่องการจดทะเบียนกับชาวต่างชาติเป็นอย่างดี เวลาส่งวีซ่าจะได้ไม่มีปัญหา) เวลาไปจดทะเบียนอย่าลืมพาพยานไปด้วย 1 คน 

 

เอกสารฝ่ายคนต่างชาติ = ใบรับรองความโสดฉบับจริงและฉบับแปลที่รับรองโดยกงศุลแล้ว+ถ่ายเอกสาร 2 ชุด, พาสปอร์ต+ถ่ายเอกสารหน้าที่มีรูปใบหน้า 2 ชุด, ถ่ายเอกสารหน้าที่มีการประทับตราการเดินทางเข้าประเทศไทยครั้งล่าสุด 2 ชุด

 

เอกสารฝ่ายคนไทย = บัตรประจำตัวประชาชน+ถ่ายเอกสาร 2 ชุด, สำเนาทะเบียนบ้าน 2 ฉบับ (ถ้าต้องการเปลี่ยนชื่อและแก้ไขเลยก็ควรเอาทะเบียนบ้านตัวจริงไปด้วย), ถ้าเคยเปลี่ยนชื่อต้องมีเอกสารการเปลี่ยนชื่อพร้อมสำเนายื่นประกอบด้วย

 

ค่าธรรมเนียม = จ่ายค่าคัดสำเนา 40 บาท

 

4.1 เดินไปที่ประชาสัมพันธ์แล้วเค้าจะให้ใบคำร้องมากรอกเอกสาร ฝ่ายชายต้องเป็นฝ่ายกรอกแต่ถ้าว่าที่สามีเป็นคนต่างชาติ เค้าก็ยอมให้เราเป็นคนกรอกเอง ก็เอาข้อมูลจากใบรับรองความโสดที่แปลมากรอกลงไปประมาณ 2 หน้ากระดาษ (เขียนข้อมูลเยอะอยู่เหมือนกัน)

 

4.2 เจ้าหน้าที่จะเอาเอกสารต่างๆ มาให้เราเซ็นต์ รวมทั้งเซ็นต์รับรองเอกสารสำเนาต่างๆ ที่เราเตรียมมาด้วย ก่อนเซ็นต์อ่านซักนิดนะคะว่าเค้าให้เซ็นต์อะไรเพราะระหว่างนั้นเรายังคงนั่งกรอกใบคำร้องไม่เสร็จ

 

4.3 ถ้าต้องการเปลี่ยนชื่อนำหน้าหรือนามสกุลตามสามีก็อย่าลืมแจ้งความจำนงด้วยนะคะ (แต่ถ้าสะดวกสุดๆ คือไม่เปลี่ยนอะไรเลย ใช้นางสาวและนามสกุลเดิมจะช่วยลดความปวดหัวเรื่องเอกสารราชการได้มาก)

 

4.4 พอเราเขียนคำร้องเสร็จเจ้าหน้าที่ก็จะพาไปนั่งรอระหว่างเช็คความถูกต้องของเอกสารและเตรียมทะเบียนสมรสให้เราจดทะเบียน 

 

4.5 พอถึงคิวเราก็เซ็นต์เอกสารทะเบียนสมรส ตรวจสอบความเรียบร้อยของชื่อเรากับสามีว่าสะกดถูกต้องหรือเปล่า? จากนั้นก็เซ็นต์รับรองเอกสารต่างๆ 

 

4.6 เจ้าหน้าที่พาเราไปนั่งตรงนายทะเบียนที่เป็นคนสุดท้ายในการเซ็นต์และตรวจสอบความถูกต้องต่างๆ แล้วก็ให้เราเอาเอกสารไปถ่ายเอกสาร 4 ชุดเพื่อเอามาประทับตรา พอเซ็นต์กันเสร็จก็ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ที่บางรักเค้าจะมีซุ้มเล็กๆ ด้านหลังให้ถ่ายรูปได้ด้วย

 

4.7 เอกสารที่เราจะได้คือใบ คร.2 + คร.3 เป็นเอกสารมีกรอบสีชมพูสวยงามกับเอกสารราชการ คนละชุดระหว่างสามีกับภรรยา ที่บางรักเค้าจะมีสมุดปกแข็งสีน้ำเงินกับสีแดงให้ซื้อราคา 450 บาทไว้ให้ใส่เอกสารด้วย (ตอนแรกคิดว่าแพงแต่พอซื้อแล้วก็คุ้มค่ามากๆ เพราะว่าเค้ามีทั้งคำอวยพร ที่ใส่เอกสาร คำแปลของกรอบที่ล้อมรอบใบทะเบียนสมรส)