TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 21 march 2559
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 1875 ครั้ง

ลูกจ้างทดลองงาน

การทดลองงาน

การทำงานนอกจากจะยื่นใบสมัครแล้ว อาจต้องผ่านการสัมภาษณ์งานอีกขั้นตอนหนึ่ง ถึงจะเข้าสู่การลุ้นผ่านการประกวดรอบสุดท้าย ว่าจะเข้าตากรรมการผ่านการพิจารณารับมาทำงานหรือไม่

เป็นอิสระของบริษัทที่จะจ้างทั้งหลายในการตัดสินใจจะรับเข้าทำงานหรือไม่ นอกจากคุณสมบัติทั่วไป บางรายอาจกางตำราโหงวเฮ้งหรือดูวันตกฟากปีที่เกิดว่าชงหรือเป็นมงคลกับว่าที่เจ้านายก็เป็นอิสระที่กฎหมายไม่ก้าวก่าย

จนเมื่อตกลงรับเข้าทำงานเมื่อไหร่ สถานะของสองฝ่ายก็กลายเป็นเจ้านายกับลูกน้อง ต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน โดยไม่จำเป็นต้องทำสัญญากันเป็นหนังสือก็ได้

สิทธิหน้าที่มากมายก็เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จะบอกว่าไม่รู้เพราะไม่ได้จบกฎหมายไม่ได้ ต้องหาข้อมูลกฎหมายมาใส่ใจและเข้าใจอย่างน้อยก็ในเบื้องต้น

แม้ว่าจะได้มีการดูตัวกันมาก่อนรับเข้าทำงาน ก็ยังต้องการความแน่ใจว่าสามารถทำงานให้ได้ตามที่อ้างไว้เป็นคุณสมบัติหรือเปล่า หรือจะเข้ากับที่ทำงานได้แค่ไหน เจ้านายก็เลยใช้มาตรการอีกขั้นตอนก่อนรับเข้าเป็นลูกจ้างประจำ โดยกำหนดเงื่อนไขให้ทดลองงาน

หากผ่านขั้นนี้เมื่อไหร่ก็ค่อยได้บรรจุไว้ในทำเนียบพนักงาน ทำให้ลูกจ้างที่เข้าทำงานใหม่จึงคงดีใจได้เพียงครึ่งอารมณ์

กฎหมายไม่ได้กำหนดประเภทลูกจ้างเอาไว้ว่าจะเป็นแบบบรรจุเลย หรือทดลองงาน และจะกำหนดกันอย่างไร หรือเรียกชื่อแบบไหนก็สุดแท้แต่ใจของเจ้านาย และจะให้ทดลองงานกันก่อนก็ทำได้

จะกำหนดเวลากันไว้นานแค่ไหนก็แล้วแต่จะตกลงกัน อาจเป็นสามเดือน หกเดือนก็ว่ากันไป บางรายกำหนดกันถึงปีเพราะเป็นตำแหน่งที่ต้องให้แน่ใจเสียจริงก็ได้

เจ้านายที่ได้ลูกน้องมาแต่กั๊กไว้ด้วยความไม่แน่ใจว่าจะแน่แค่ไหน ใช่ตามที่สาธยายเอาไว้ในตอนสมัครงานหรือไม่ การทดลองงานจึงเป็นช่วงเวลาสำคัญพอสมควร

สำหรับลูกน้องก็ต้องถือว่าน่าเป็นห่วงความมั่นคงอยู่ ไม่รู้จะผ่านหรือไม่ ต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบให้โดนใจอีกระยะหนึ่ง

ในทางกฎหมายเมื่อมีการรับให้ทำงานกันเมื่อไหร่ ก็ถือว่าเป็นนายจ้างลูกจ้างกันเมื่อนั้น โดยไม่ต้องรอวันผ่านการทดลองงาน เจ้านายต้องจัดสวัสดิการและปฏิบัติต่อลูกน้องทดลองงานเช่นเดียวกับลูกจ้างทั่วไป ต่างกันก็ตรงที่มีกำหนดเวลากันเอาไว้ว่าครบเมื่อไหร่ ก็เลิกจ้างได้เท่านั้นเอง

เรื่องที่ว่าไม่จำเป็นต้องบอกเลิกการจ้างล่วงหน้านั้นเรื่องหนึ่ง แต่ต้องคำนึงถึงเวลาที่ได้มีการทำงานกันไปด้วยว่านานแค่ไหน เพราะหากไม่ผ่านการทดลองงานเมื่อไหร่ ก็อาจต้องจ่ายเงินชดเชยให้ไปตามกฎหมาย

ถ้าให้ทดลองกันเป็นเวลานานถึง 120 วันเป็นอันต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 30 วันสุดท้าย ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันแบบทั่วไปว่า 1 เดือน ยิ่งทำงานนานขึ้นไปเท่าไหร่ อัตราค่าชดเชยก็ยาวไปเท่านั้น

ลูกจ้างทดลองงานจึงไม่ต้องหวั่นไหวในกรณีที่ไม่ผ่านการพิจารณาถ้าทำงานครบ 120 วันคือประมาณ 4 เดือนเมื่อไหร่ก็เป็นอันได้ค่าชดเชยไปปลอบใจ ไม่ต้องตกงานตัวเปล่า

การทดลองงานเป็นเงื่อนไขในการจ้างงานแต่ไม่กระทบถึงความผูกพันตามกฎหมายในฐานะนายจ้างลูกจ้างที่เริ่มตั้งแต่วันที่ตกลงรับมาทำงานให้กัน จะทดลองนานแค่ไหนก็ทดลองกันไป กฎหมายไม่สนใจ ขอเพียงนับเป็นลูกจ้างตามกฎหมายก็แล้วกัน