TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 29 october 2563
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 613 ครั้ง

สิ่งที่นายจ้างควรรู้เมื่อจ้างแรงงานต่างด้าว

สิ่งที่นายจ้างควรรู้เมื่อจ้างแรงงานต่างด้าว

 

นายจ้างหรือผู้ประกอบการหลายคนต้องการแรงงานจำนวนมาก แต่ประสบปัญหาแรงงานในประเทศไทยไม่เพียงพอ ทำให้การจ้างแรงงานต่างด้าวก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะสามารถจ้างได้จำนวนมาก และแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่มักทนงาน แต่การนำเข้าแรงงานต่างด้าวนั้นจำเป็นต้องเข้าใจกฎหมายหลายข้อเพื่อปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง มาดูสิ่งที่นายจ้างควรรู้เมื่อจ้างแรงงานต่างด้าวกัน

การทำ MOU 

รู้หรือไม่ว่า การจ้างแรงงานต่างด้าวจะต้องทำ MOU จึงจะถือว่าแรงงานเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งค่าใช้จ่ายในการทำ MOU ของแต่ละประเทศทั้งลาว กัมพูชา เมียนมาร์ จะแตกต่างกัน โดยการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU สามารถทำได้ 2 วิธี คือ 1. นายจ้างดำเนินงานด้วยตัวเอง 2. ดำเนินการผ่านบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยถ้าหากนำเข้าแรงงานผ่านบริษัทตัวแทนจะสามารถทำได้ง่ายกว่า เพราะรับรองได้ว่าถูกต้องตามกฎหมายแน่นอน ไม่ต้องเสียเวลาศึกษาเอง

สวัสดิการ แรงงานต่างด้าว 

แรงงานต่างด้าวทุกคนที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมายจะต้องทำประกันสังคม โดยนายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป จะต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างพร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนภายใน 30 วัน ซึ่งนายจ้างขึ้นทะเบียนได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครหรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดที่สถานประกอบการตั้งอยู่

แบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง (สปส.1-01) ต้องใช้เอกสารดังนี้

กรณีจดทะเบียนนิติบุคคล

  1. แบบฟอร์มขึ้นทะเบียนนายจ้าง (สปส.1-01)
  2. แผนที่และภาพถ่ายของสถานประกอบการ
  3. หลักฐานแสดงตัวของนายจ้าง เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทาง
  4. หนังสือมอบอำนาจ (เฉพาะกรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทน พร้อมติดอากรแสตมป์ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด)

กรณีเจ้าของคนเดียว

  1. แบบฟอร์มขึ้นทะเบียนนายจ้าง (สปส.1-01)
  2. แผนที่และภาพถ่ายของสถานประกอบการ
  3. หลักฐานแสดงตัวของนายจ้าง เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทาง
  4. หนังสือสัญญาเช่า หรือหนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่
  5. หนังสือมอบอำนาจ (เฉพาะกรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทน พร้อมติดอากรแสตมป์ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด)

แบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส.1-03) ต้องใช้เอกสารดังนี้

  1. แบบฟอร์มขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส.1-03)
  2. ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) และหนังสือเดินทาง (Passport)

สิทธิประกันสังคมแรงงานต่างด้าว 

แรงงานต่างด้าวจะได้รับสิทธิความคุ้มครอง 7 กรณี ซึ่งรวมถึงการรักษาพยาบาลต่าง ๆ จากกองทุนประกันสังคมเช่นเดียวกับแรงงานไทย คือ

  1. กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย
  2. กรณีคลอดบุตร
  3. กรณีทุพพลภาพ
  4. กรณีเสียชีวิต
  5. กรณีสงเคราะห์บุตร
  6. กรณีชราภาพ
  7. กรณีว่างงาน

ดังนั้น หากจะจ้างแรงงานต่างด้าว ควรขึ้นทะเบียนแรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

กฎหมายแรงงานต่างด้าวที่นายจ้างควรรู้ 

กฎหมายคุ้มครองแรงงานต่างด้าวจะเหมือนกันกับแรงงานไทย โดยมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ปี 2562 มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

  • กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าตอบแทน
    นายจ้างไม่คืนเงินหลักประกัน ไม่จ่ายเงินกรณีบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกล่วงหน้า หรือไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงาน-ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่าย หรือไม่จ่ายเงินกรณีนายจ้างหยุดกิจการ หรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัด ร้อยละ 15 ต่อปี
  • กรณีเปลี่ยนนายจ้าง เปลี่ยนนิติบุคคล
    ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง หรือในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล และมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง โอน หรือควบกับนิติบุคคลใด หากมีผลทำให้ลูกจ้าง ไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ การไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างคนนั้นด้วย และให้สิทธิต่าง ๆ ที่ลูกจ้างเคยมีอยู่จากนายจ้างเดิมมีสิทธิต่อไป โดยนายจ้างใหม่ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของลูกจ้างคนนั้นทุกประการ
  • การเลิกจ้างและอัตราค่าชดเชยใหม่
    ในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบ ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างที่ลูกจ้างควรจะได้รับ นับตั้งแต่วันที่ให้ลูกจ้างออกจากงาน จนถึงวันที่การเลิกสัญญาจ้างมีผลโดยให้จ่ายในวันที่ให้ลูกจ้างออกจากงาน

ค่าแรงขั้นต่ำแรงงานต่างด้าว

แรงงานต่างด้าวจะได้รับค่าแรงขั้นต่ำเทียบเท่ากับแรงงานไทย นายจ้างอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ทำให้นายจ้างมีโอกาสเลือกแรงงานต่างด้าวที่มีคุณภาพ เนื่องจากค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้แรงงานต่างด้าวสนใจเข้ามาทำงานในประเทศไทยจำนวนมาก และทำให้นายจ้างสามารถหาลูกจ้างทำงานบางประเภทที่แรงงานไทยไม่อยากทำ อย่างเช่น งานก่อสร้าง งานในโรงงานอุตสาหกรรม งานขนของ เป็นต้น โดยแต่ละจังหวัดมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำแตกต่างกัน นายจ้างควรตรวจสอบข้อมูลให้ดีว่าจังหวัดที่สถานประกอบการตั้งอยู่มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำเท่าไร ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอยู่ที่ 325 บาทต่อวัน แต่เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ได้มีการปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ โดยค่าแรงขั้นต่ำของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อยู่ที่ 331 บาทต่อวัน มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป