TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 1 july 2562
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 708 ครั้ง

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ 2562 เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ลูกจ้าง

            เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ฉบับเดิม โดยมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้าง รวมถึงสวัสดิการต่างๆ เพื่อยกระดับการคุ้มครองลูกจ้าง ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนี้

           โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ระบุดังนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล 

           ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ เพื่อยกระดับการคุ้มครองลูกจ้างให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันจะทำให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีความมั่นคงในการทำงาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และจะเป็นประโยชน์แก่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

          สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการให้แก่ลูกจ้าง อาทิ


         1. กรณีนายจ้างไม่คืนเงินหลักประกัน ไม่จ่ายเงินกรณีบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกล่วงหน้า หรือไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่าย หรือไม่จ่ายเงินกรณีนายจ้างหยุดกิจการ หรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัด 15% ต่อปี

         2. กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง หรือนายจ้างเป็นนิติบุคคล และมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง โอน หรือควบกับนิติบุคคลใด หากมีผลทำให้ลูกจ้างคนหนึ่งคนใดไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ การไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างคนนั้นด้วย และให้สิทธิต่างๆ ที่ลูกจ้างมีอยู่ต่อนายจ้างคนเดิมคงมีสิทธิต่อไป โดยนายจ้างใหม่ ต้องรับไปทั้งสิทธิ และหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างนั้นทุกประการ
 
        3. กรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบ ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างที่ลูกจ้างควรจะได้รับ นับแต่วันที่ให้ลูกจ้างออกจากงาน จนถึงวันที่การเลิกสัญญาจ้างมีผล และให้จ่ายในวันที่ให้ลูกจ้างออกจากงาน

        4. ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน และต้องจ่ายค่าจ้างในวันลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน 

        5. ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรครรภ์ไม่เกิน 98 วัน โดยครอบคลุมถึงวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรด้วย พร้อมกับจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน

        6. ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ให้ถูกต้องตามกำหนดเวลา โดยต้องกำหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ให้แก่ลูกจ้างในอัตราที่เท่ากันทั้งชายและหญิงในงานที่มีค่าเท่าเทียมกัน ดังนี้
       - กรณีที่มีการคำนวณค่าจ้างเป็นรายเดือน รายวัน รายชั่วโมง หรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่น ที่ไม่เกินหนึ่งเดือน หรือตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย ให้จ่ายไม่น้อยกว่า 1 ครั้งต่อเดือน เว้นแต่จะมีการตกลงกันเป็นอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้าง
      - ในกรณีที่มีการคำนวณค่าจ้างนอกเหนือจากนี้ ให้จ่ายตามกำหนดเวลาที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน
      - ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่าย ให้จ่ายไม่น้อยกว่า 1 ครั้งต่อเดือน
         ส่วนในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายตามที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับให้แก่ลูกจ้าง ภายใน 3 วันนับแต่วันที่เลิกจ้าง

       7. ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการ ตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน 

       8. เพิ่มและแก้ไขอัตราค่าชดเชยการเลิกจ้าง เป็น 6 มาตรา และให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษไม่ต่ำกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย ดังนี้
     - อัตราที่ 1 ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้ค่าชดเชย 30 วัน
     - อัตราที่ 2 ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ได้ค่าชดเชย 90 วัน
     - อัตราที่ 3 ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ค่าชดเชย 180 วัน
     - อัตราที่ 4 ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ได้ค่าชดเชย 240 วัน
     - อัตราที่ 5 ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้ค่าชดเชย 300 วัน
     - อัตราที่ 6 ทำงานมากกว่า 20 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชย 400 วัน 

      9. กรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปแห่งใหม่ ให้ประกาศแจ้งลูกจ้างทราบล่วงหน้า ในที่เปิดเผยที่ลูกจ้างสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน ไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนวันย้าย โดยต้องมีข้อความชัดเจนว่าลูกจ้างคนใดจะต้องถูกย้ายไปสถานที่ใดและเมื่อใด 
       หากนายจ้างไม่ปิดประกาศแจ้งให้ลูกจ้างทราบ นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยทานการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างที่ไม่ประสงค์จะทำงาน ณ สถานประกอบกิจการแห่งใหม่เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน 

และหากลูกจ้างไม่ประสงค์จะไปทำงาน ณ สถานประกอบกิจการแห่งใหม่ ต้องแจ้งให้ทราบเป็นหนังสือภายใน 30 วัน และให้ถือว่าสัญญาจ้างสิ้นสุดลงในวันที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ

     10. ให้นายจ้างประกาศ และกำหนดเวลาเริ่มต้น และเวลาสิ้นสุดของการทำงานในแต่ละวัน โดยวันหนึ่งต้องไม่เกิน 8 ชั่วโมง หากเวลาทำงานวันใดน้อยกว่า 8 ชั่วโมง สามารถนำเวลาทำงานส่วนที่เหลือไปรวมกับเวลาทำงานในวันทำงานปกติอื่นได้ แต่ต้องไม่เกินวันละ 9 ชั่วโมและ 1 สัปดาห์ต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง
หรือกรณีที่นายจ้างไม่อาจกำหนดเวลาเริ่มต้น และเวลาสิ้นสุดในแต่ละวันได้ เนื่องจากลักษณะและสภาพของงาน ให้นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน แต่ต้องไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง และเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง ซึ่งหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามจะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

       ทั้งนี้พระราชบัญญัติยังระบุเหตุผลในการใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ทำให้บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน และไม่เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินการ เพื่อให้ความคุ้มครองลูกจ้างจึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

 

  • ที่มา : By BLT Bangkok