TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 23 september 2559
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 714 ครั้ง

พ่อสั่งสอนลูกซึ่งโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ลูกชายอ้างบันดาลโทสะได้หรือไม่ ??

 พ่อสั่งสอนลูกซึ่งโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ดุด่าด้วยคำหยาบคายและตบกกหูลูกชายอย่างแรง ลูกชายอ้างบันดาลโทสะได้หรือไม่ ??
      คำพิพากษาฎีกาที่ 1294/2555
      ป.อ. มาตรา 72


      ขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุ 34 ปีเศษ ซึ่งไม่เป็นผู้เยาว์และไม่อยู่ใต้อำนาจปกครองของผู้เสียหายซึ่งเป็นบิดา จำเลยรับจ้างเก็บค่าน้ำประปาภายในหมู่บ้านเป็นงานอาชีพหนึ่งของจำเลย หากจำเลยบกพร่องในการทำงานผู้ว่าจ้างย่อมจะว่ากล่าวแก่จำเลยเองแม้โดยความผูกพันฉันบิดากับบุตร ผู้เสียหายอาจตักเตือนจำเลยได้บ้าง แต่อายุขนาดจำเลยถือว่าเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากแล้ว การที่ผู้เสียหายดุด่าจำเลยด้วยถ้อยคำหยาบคายเป็นเวลาต่อเนื่องกัน ทั้งยังตบกกหูจำเลยอย่างแรงจนจำเลยทรุดตัวลงถือได้ว่าเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เมื่อจำเลยกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ย่อมเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ตาม ป.อ. มาตรา 72
การที่จำเลยใช้อาวุธปืนแก๊ปยาวบรรจุปากยิงผู้เสียหายซึ่งเป็นบุพการีของจำเลย 1 นัด โดยเจตนาฆ่ากระสุนปืนถูกผู้เสียหายบริเวณแขนขวาและทรวงอกข้างขวา จำเลยลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเนื่องจากกระสุนปืนไม่ถูกอวัยวะสำคัญ ผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตายนั้น เป็นการพยายามกระทำความผิดเป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ตาม ป.อ. มาตรา 81 
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289(1) ประกอบมาตรา 81 วรรคแรกและมาตรา 72 

      หมายเหตุ

 

      1. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 72 บัญญัติว่า “ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น...... หลักเกณฑ์เรื่องบันดาลโทสะจึงประกอบไปด้วย
       1.1 ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
       1.2 การที่ถูกข่มเหงเช่นนั้นเป็นเหตุให้ผู้กระทำบันดาลโทสะ
       1.3 ผู้กระทำได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะบันดาลโทสะ
      2. การใช้อำนาจโดยชอบธรรมภายในขอบเขตของกฎหมายหรืออำนาจหน้าที่ ไม่ถือว่าเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม กรณีเช่นนี้จะอ้างบันดาลโทสะไม่ได้ ให้พิจารณาศึกษาเพิ่มเติมจากฎีกาต่อไปนี้