TH | EN


วันที่เพิ่มข้อมูล : 22 september 2559
มีผู้เข้าชมทั้งหมด : 1162 ครั้ง

ใครบ้างที่ “อุ้มบุญ” ได้?

   "พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 หรือ “กฎหมายอุ้มบุญ” เพิ่งประกาศใช้เมื่อปี 58 ฉะนั้นมันเพิ่งใช้มาปีเศษๆ จึงมีหลายคนไม่เข้าใจ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีบทบัญญัติหรือสาระสำคัญอยู่ที่ มาตรา 21 ที่กำหนดไว้ภายใต้มาตราบังคับที่ 15 มาตราที่ 16 และมาตราที่ 18 คือเรื่องของการตรวจสุขภาพกาย สุขภาพจิต และต้องมีคณะกรรมการ มีแพทย์ตรวจรับรองของผู้ที่จะตั้งครรภ์แทน”
       
       โดยมีหลักเกณฑ์ข้อแรกที่หนึ่งคือ ต้องเป็นสามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย
       “ต้องมีการจดทะเบียนสมรส เป็นคู่สามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ โดยประสงค์มีบุตรให้คนอื่นตั้งครรภ์แทน เรื่องนี้ต้องเป็นสามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายก่อน ต้องจดทะเบียนสมรส ถ้าไม่จดแล้วไปให้คนอื่นตั้งครรภ์แทนก็ไม่ได้ คู่ชายรักชาย หรือคู่หญิงรักหญิง ที่อยู่ด้วยกัน จะไปจ้างคนอื่นตั้งครรภ์แทนก็ไม่ได้
       
       “และที่สำคัญ ต้องจดทะเบียนสมรสกันมาไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งนอกจากจะเป็นสามีภรรยาที่ชอบโดยกฎหมายแล้ว ก็ต้องมีสัญชาติไทยด้วย ในคนใดคนหนึ่ง ถึงจะเข้าหลักเกณฑ์การให้ผู้อื่นตั้งครรภ์แทนได้”
       
       ข้อสอง...ต้องไม่ใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดาน ของทั้งสามีและภรรยา
       “บุพการี คือ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือพ่อแม่ ผู้สืบสันดาน ก็คือ บุตร หลาน เหลน โหลน ฉะนั้น หญิงที่ตั้งครรภ์แทนได้ จะต้องเป็นได้แค่พี่น้องร่วมบิดามารดาหรือ ป้า น้า อา ของสามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามข้อ 1 เท่านั้น

     “แต่ถ้าไม่ใช่พี่น้องของคู่สามีภรรยาคู่นั้น ก็ต้องได้รับความยินยอมจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธรณสุข ที่ประกาศกฎระเบียบเงื่อนไขและแบบแผน ต้องผ่านเกณฑ์เหล่านั้นก่อน”
       
       และข้อสุดท้าย...ห้ามผู้หญิงที่ไม่เคยมีบุตรมาก่อน รับตั้งท้องแทน
       “ผู้หญิงที่จะรับตั้งครรภ์ ต้องเป็นหญิงที่เคยมีบุตรมาก่อนเท่านั้น ถ้ายังไม่เคยมีบุตร แม้แต่งงานแล้วก็ไม่ได้ ซึ่งถ้าฝ่ายหญิงที่จะตั้งครรภ์แทน มีบุตรแล้วและมีสามีด้วย ก็ต้องได้รับความยินยอมจากสามีที่ชอบด้วยกฎหมายก่อนอีก
       
       “ดังนั้น ตามระเบียบ ผู้ที่จะสามารถให้อุ้มบุญ คือสามีและภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้อง แต่ไม่สามารถมีลูกได้ตามความประสงค์เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปีของการจดทะเบียนสมรส ต้องเป็นคนสัญชาติไทยในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
       
       “ส่วนผู้ที่จะรับอุ้มบุญนั้น จะต้องเคยมีลูกมาก่อน และไม่ใช่ผู้สืบสันดานหรือบุพการีที่เป็นแม่ ยาย ย่า หรือ ลูก หลาน เป็นได้เพียงพี่น้องร่วมบิดามารดา คือเป็น ป้า น้า หากเป็นคนอื่นต้องได้รับอนุญาตและผ่านกระบวนการที่เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐมนตรีสาธารณสุขก่อน ซึ่งเขาออกระเบียบอะไรบ้างก็ต้องไปดูที่กฎกระทรวง ถ้าไม่เข้าค่ายอุ้มบุญไม่ได้เลย เพราะผิดกฎหมาย”

 มาตรา 19 กฎหมายที่ต้องให้มีการป้องกันไม่ให้เป็นการรับจ้างอุ้มบุญหรือทำเป็นการค้าเพราะขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่ว่า...ห้ามการโฆษณาความประสงค์ที่จะเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทนผู้อื่น ห้ามกระทำการเป็นนายหน้าห้ามซื้อ ขาย เสนอซื้อเสนอขาย นำเข้าหรือส่งออก ห้ามสร้างตัวอ่อนเพื่อใช้ในกิจการอื่น นอกจากการรักษาภาวะมีบุตรยาก ห้ามสร้างมนุษย์โดยวิธีการอื่นนอกจากการปฏิสนธิระหว่างอสุจิกับไข่ และมาตรา 20 ห้ามมิให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมกระทำการด้วยวิธีเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันทางการแพทย์เพื่อให้หญิงใดตั้งครรภ์ โดยรู้ หรือมีเหตุควรรู้ว่าหญิงนั้นรับตั้งครรภ์แทนผู้อื่นเพื่อความประสงค์แห่งการค้า 

ต้องรักเสมือนบุตรในครรภ์
       เรื่องสำคัญที่คนอุ้มบุญต้องรู้
       
       ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้หญิงอื่นที่มิใช่ญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายรับตั้งครรภ์ แทน พ.ศ. 2558
       
       ผู้ที่รับอุ้มบุญนั้นต้องมีสัญชาติเดียวกันกับสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะมีบุตร
       
       ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 40 ปีบริบูรณ์ และเคยมีบุตร มาแล้วโดยการคลอดตามธรรมชาติไม่เกิน 3 ครั้ง หรือในกรณีที่ผ่าคลอดไม่เกิน 1 ครั้ง

   ต้องเป็นผู้มีสุขภาพร่างกายและจิตใจแข็งแรงสมบูรณ์ดี โดยผ่านการตรวจและ ประเมินความพร้อมทางด้านร่างกายจิตใจ และสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ ตามที่แพทยสภาประกาศกำหนด หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับการตรวจประเมินความพร้อมทางด้านร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อมของผู้ขอรับบริการหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน และผู้บริจาคอสุจิหรือไข่ ที่จะนํามาใช้ดําเนินการ ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
       
       หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน จะรับตั้งครรภ์แทนจนได้คลอดบุตรไม่เกิน 2 ครั้ง และให้หญิงอื่นที่มิใช่ญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่จะรับ ตั้งครรภ์แทน ระบุความสัมพันธ์ในทางสังคมกับสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยแสดงหลักฐานตาม แบบ คทพ. 1
       
       “คือการทำอุ้มบุญ ไม่ใช่แค่เพียงการนำตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิหรือไข่ของสามีและภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายไปฝากไว้ในไข่ของหญิงอื่นตั้งครรภ์แทน หรือนำเอาอสุจิหรือไข่ที่ไม่ใช่สามีภรรยากันของคนใดคนหนึ่ง ไปฝากไว้ในของหญิงอื่นเพื่อตั้งครรภ์ และห้ามเอาไข่ของหญิงที่ฝากครรภ์มาเป็นตัวฝัง ฉะนั้น ไข่เกิดจากพ่อแม่ที่แท้จริงเขา แต่เขาตั้งครรภ์ไม่ได้ ก็ไปฝากในครรภ์ของหญิงอื่น กับอันที่สอง ไข่หรืออสุจิที่เกิดจากพ่อแม่กับบุคคลอื่น แล้วเอาไปฝากไว้ในไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน ลูกที่เกิดมา จึงไม่ได้เกิดจากไข่ของหญิงที่ตั้งครรภ์เลย มันเป็นไข่ของคนอื่นที่เอามาฝากไว้เฉยๆ
    “ผู้ที่รับอุ้มบุญ จึงต้องผ่านระเบียบขั้นตอนอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ก่อนจะทำการอุ้มบุญทั้ง 3 คน ต้องไปพบคณะกรรมการก่อน เขาจะเป็นคนคอยติดตามผลงาน การดูแลเอาใจใส่ สภาวะจิตใจของแม่ที่ตั้งครรภ์แทนเป็นอย่างไรบ้าง มีผลต่อคนตั้งครรภ์ไหม คนตั้งครรภ์มีอาการโรคร้ายแรงควรจะมีบุตรต่อหรือไม่ เขาก็จะทำการประเมิน ไม่ใช่ว่าใครอยากจะตั้งครรภ์แทนกันก็ตั้งได้ ต้องมีหนังสือรับรองทำบันทึกข้อตกลงรองรับ ซึ่งวิธีการต่อไป เขาให้ทำข้อตกลงกันว่าผู้หญิงคนนี้รับตั้งครรภ์ให้กับสามีภรรยาคู่นี้
       
       “ส่วนหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูตามเรื่องครอบครัวทั่วไปเลย กฎหมายเขียนชัดเจนเลยว่า พ่อแม่ที่ไปให้เขาตั้งครรภ์แทน ต้องเป็นพ่อแม่ตามกฎหมายเท่านั้น ไม่ใช่ลูกของผู้หญิงที่อุ้มบุญ ฉะนั้น เวลาที่คุณจะไปให้เขาตั้งครรภ์แทน จะไปปฏิเสธว่าไม่ใช่ลูกฉัน เพราะฉันไม่ต้องการไม่ได้ มันเป็นลูกของคุณ
       
       “ก็พาไปแจ้งเกิดแจ้งอะไรได้ตามปกติ แต่ไม่ใช่ในฐานะลูกบุญธรรม หากแต่เป็นลูกที่เกิดเสมือนในครรภ์ของคู่สามีภรรยาเลย สามีภรรยาคู่นี้ต้องพาหญิงคนนี้ไปดูแลเสมือนกับตัวเองตั้งครรภ์ เช่น พาไปฝากครรภ์ บำรุงครรภ์ ฯลฯ และต้องไปในสถานที่ๆ ถูกกำหนดไว้ ไม่ใช่ว่าไปคลินิกหรือโรงพยาบาลแห่งไหนก็ได้ หลังคลอดก็ต้องไปด้วยกัน ไปแสดงความจำนง แล้วก็เอาเอกสารที่ขออนุญาตไปด้วย เพราะว่าการรับฝากครรภ์หรือตั้งครรภ์แทนไม่ใช่ว่าตกลงกันเอง ต้องไปขออนุญาตเจ้าหน้าที่ก่อน มีคณะกรรมการ ซึ่งได้บันทึกและยินยอมไปแล้ว และเมื่อคลอด ก็ต้องเอาเอกสารเหล่านี้ไปแจ้งต่อนายทะเบียนว่าพ่อแม่เป็นใคร เอกสารของคณะกรรมการที่ยินยอมเหล่านี้ประกอบกัน”

  ไม่ได้ปิดกั้นเสรีภาพ
       แต่คำนึงถึงผลบุญที่อุ้ม
       
       “คือความสัมพันธ์ทางสายเลือดมันค่อนข้างจะมีอยู่แล้วระดับหนึ่งตามที่กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าผู้ที่จะตั้งครรภ์แทนได้ต้องเป็นพี่น้องของคู่สามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย”
       ทนายเกิดผล เปิดเผยมุมมอง ซึ่งอาจจะมีข้อคิดเห็นในเรื่องศีลธรรมและจริยธรรมที่มองเห็นต่าง ท่ามกลางความเข้าใจที่น้อยคนจะทราบ
       
       “ฉะนั้น ความสัมพันธ์ทางสายเลือดมันค่อนข้างจะมีอยู่แล้ว และเขาก็เต็มใจด้วย จริงๆ แล้วในสังคมมันก็เหมือนเป็นคนในครอบครัวหนึ่งอยู่แล้ว สังคมยอมรับได้ กฎหมายห้ามเอาบุคคลอื่นมาตั้งครรภ์แทน ถ้าจะเอามาตั้งครรภ์แทน ต้องผ่านกระบวนการคัดกรองระดับหนึ่งก่อน เบื้องต้นเห็นชัดเจนว่าต้องเป็นพี่เป็นน้องก่อน ความสัมพันธ์ทางสังคมและสายเลือดทางครอบครัวมันชัดเจนว่า คนในครอบครัวเดียวกัน ไม่แตกต่างอะไรมาก
       
       “เบื้องต้นกฎหมายก็ชัดเจน และตั้งแต่บังคับใช้ก็ยังไม่เคยเกิดกรณีมีปัญหา ยังไม่เคยเกิดขึ้น แต่ก็ต้องดูผลดีผลเสียต่อไปในอนาคตข้างหน้าด้วย เพราะมันยังไม่มีกฎหมายรองรับว่าเด็กโตขึ้นแล้วจะเป็นอย่างไร หากเขาบรรลุนิติภาวะและบังเอิญรู้ความจริงและอยากจะตัดสินใจจะไปอยู่กับมารดาที่ตั้งครรภ์เขามา กฎหมายยังไม่ได้มีเรื่องตรงนี้ ก็เป็นเรื่องอนาคต ส่วนเรื่องเบื้องต้นกฎหมายระบุไว้ โอเคแล้ว ซึ่งใครที่จะทำอุ้มบุญหรือรับอุ้มบุญก็ต้องปรึกษาหลายๆ ทาง จากผู้ที่เกี่ยวข้อง”